ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ใส่ความโจทก์โดยร้องเรียนต่อคณะกรรมการมรรยาททนายความ

ใส่ความโจทก์โดยร้องเรียนต่อคณะกรรมการมรรยาททนายความ

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นทนายความในคดีฟ้องนายจ้าง ต่อมาจำเลยจงใจใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ต่อคณะกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความ ว่าโจทก์ดำเนินคดีด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยไม่ได้รับเงินเต็มตามฟ้อง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและทางทำมาหาได้ของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยร้องเรียนโจทก์ต่อสภาทนายความ โดยระบุถึงการกระทำของโจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏแก่จำเลย โดยไม่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากความเป็นจริงจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ใช่เป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยมีเจตนาให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณหรือทางทำมาหาได้ ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์       

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5026/2552

          สาเหตุที่จำเลยร้องเรียนโจทก์ต่อสภาทนายความเกิดจากความเข้าใจของจำเลยว่า จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำหน้าที่ของโจทก์ เนื่องจากโจทก์บรรยายคำฟ้องคดีแรงงานโดยระบุว่านายจ้างของจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เงินพักผ่อนประจำปีในปีที่ถูกเลิกจ้าง เงินโบนัสประจำปีที่ถูกเลิกจ้าง เงินกองทุนเลี้ยงชีพตามกฎหมาย ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างก่อนเกษียณอายุในการทำงานของจำเลย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,165,395 บาท แต่ตามคำขอท้ายฟ้องคดีแรงงานโจทก์ขอให้นายจ้างของจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เงินพักผ่อนประจำปี เงินโบนัสประจำปีในปีที่ถูกเลิกจ้าง ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างก่อนเกษียณอายุในการทำงานของจำเลย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 475,041 บาท และศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นายจ้างของจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแล้ว แม้ศาลฎีกาจะพิพากษาให้นายจ้างของจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มจากที่ศาลแรงงานกลางพิพากษา แต่จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นก็เป็นจำนวนตามที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องนั่นเอง เมื่อจำนวนเงินดังกล่าวแตกต่างจากจำนวนเงินตามคำบรรยายฟ้องเป็นอย่างมาก ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจว่าการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับชดใช้เงินน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ การที่จำเลยร้องเรียนโจทก์ต่อสภาทนายความโดยระบุถึงการกระทำของโจทก์ตามที่ปรากฏแก่จำเลย โดยไม่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากความเป็นจริง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ใช่เป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยมีเจตนาให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณหรือทางทำมาหาได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยหาได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำโดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายไม่ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นทนายความในคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องนายจ้างของจำเลยที่เลิกจ้างจำเลยอย่างไม่เป็นธรรมต่อศาลแรงงานกลาง คดีดังกล่าวศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยชนะคดี ต่อมาจำเลยจงใจใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ต่อคณะกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความว่าโจทก์ดำเนินคดีด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยไม่ได้รับเงินเต็มตามฟ้อง ทำให้คณะกรรมการมารยาททนายความแต่งตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนโจทก์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและทางทำมาหาได้ของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า โจทก์ดำเนินคดีโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยบรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามที่จำเลยมอบหมายให้ดำเนินคดี แต่โจทก์นำคำขอท้ายฟ้องที่ไม่ถูกต้องมาเป็นคำขอท้ายฟ้องของจำเลย ทำให้จำนวนค่าเสียหายที่เรียกร้องน้อยกว่าที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์ฟ้อง และทำให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยได้รับค่าเสียหายผิดไปจากคำฟ้อง ต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวแต่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเพราะเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง หลังจากนั้นโจทก์แจ้งว่าจะชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย 100,000 บาท จากการกระทำผิดพลาดของตน แต่โจทก์ชำระเงินให้จำเลยเพียง 50,000 บาท และนำหนังสือรับสภาพหนี้ค่าจ้างว่าความส่วนที่เหลือมาให้จำเลยลงลายมือชื่อ จำเลยไม่ยอมลงลายมือชื่อให้ โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ข้อหาผิดสัญญาจ้างว่าความ ต่อมาศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้อง จำเลยจึงไปร้องเรียนต่อสภาทนายความ เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามพระราชบัญญัติสภาทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 64 โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย และคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย กำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท
  โจทก์อุทธรณ์

  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของบริษัทไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ จำกัด (มหาชน) และถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความดำเนินการฟ้องบริษัทดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อเรียกร้องค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เงินพักผ่อนประจำปี เงินโบนัสประจำปี ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างก่อนเกษียณอายุ โจทก์จัดพิมพ์คำฟ้องเรียกร้องค่าชดเชย 116,400 บาท ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 32,350 บาท เงินพักผ่อนประจำปี 6,470 บาท เงินโบนัสประจำปี 16,175 บาท เงินกองทุนเลี้ยงชีพที่จำเลยยังค้างชำระ 120,000 บาท ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 426,800 บาท และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างก่อนเกษียณอายุ 446,200 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,164,395 บาท แต่มีคำขอท้ายฟ้องให้บริษัทดังกล่าวชำระค่าชดเชย 66,330 บาท ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 18,450 บาท เงินพักผ่อนประจำปี 5,166 บาท เงินโบนัสประจำปีในปีที่ถูกเลิกจ้าง 9,225 บาท ค่าเสียหายในการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม 132,660 บาท ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างก่อนเกษียณอายุ 243,210 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 475,041 บาท ตามสำเนาคำฟ้องคดีแรงงานเอกสารหมาย จ.3 คดีดังกล่าวศาลแรงงานกลางพิพากษาให้บริษัทไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ จำกัด (มหาชน) จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 18,450 บาท ค่าชดเชย 66,330 บาท ค่าเสียหาย 132,660 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5,166 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 222,606 บาท แก่จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ลำดับที่ 239 ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ล.2 จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงาน ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้บริษัทไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ จำกัด (มหาชน) จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 31,291 บาท ค่าชดเชย 112,650 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 7,510 บาท โดยให้ชำระดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยนับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2540 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ล.3 โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างว่าความ 116,439 บาท จำเลยชำระค่าจ้างแก่โจทก์เพียง 10,000 บาท โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือให้จำเลยชำระค่าจ้างว่าความที่เหลือจำนวน 106,439 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้อง ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ล.7 จำเลยได้ร้องเรียนโจทก์ต่อสภาทนายความ ทำให้จำเลยได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมน้อยกว่าความเป็นจริง 402,913 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2540 ถึงปัจจุบัน เป็นเงิน 151,092 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 554,005 บาท ตามสำเนาคำกล่าวหาสภาทนายความมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ยื่นคำแก้ข้อกล่าวหา โจทก์ยื่นคำขอแก้ข้อกล่าวหา ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนและคณะกรรมการมรรยาททนายความมีมติว่า จำเลยยื่นคำกล่าวหาเกินกว่า 1 ปี นับแต่ทราบถึงความผิดของโจทก์ สิทธิในการกล่าวหาจึงสิ้นสุดลงตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 64 วรรคสอง ตามคำสั่งชี้ขาดเอกสารหมาย จ.12

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยร้องเรียนโจทก์ต่อสภาทนายความโดยกล่าวหาว่าโจทก์ดำเนินคดีบกพร่องทำให้จำเลยได้รับค่าเสียหายน้อยกว่าที่โจทก์บรรยายคำฟ้องเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วยการใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อบุคคลที่สามอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ โจทก์อ้างว่า การที่จำเลยร้องเรียนโจทก์ต่อสภาทนายความเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์ถูกสภาทนายตั้งคณะกรรมการสอบสวน โจทก์ต้องยื่นคำแก้ข้อกล่าวหา ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้ ส่วนจำเลยอ้างว่า การที่โจทก์ระบุจำนวนค่าเสียหายในคำขอท้ายฟ้องคดีแรงงานน้อยกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องและไม่ได้ขอเงินค่าเสียหายเกี่ยวกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยทำให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยได้รับค่าเสียหายตามคำขอท้ายฟ้องซึ่งน้อยกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง และโจทก์ยังฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลยที่ศาลแขวงพระนครเหนือ จำเลยจึงร้องเรียนโจทก์ต่อสภาทนายความ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ดำเนินคดีบกพร่องเป็นเหตุให้จำเลยได้รับค่าเสียหายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เห็นว่า สาเหตุที่จำเลยร้องเรียนโจทก์ต่อสภาทนายความเกิดจากความเข้าใจของจำเลยว่าจำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำหน้าที่ของโจทก์ เนื่องจากโจทก์บรรยายคำฟ้องคดีแรงงานโดยระบุว่านายจ้างของจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย 116,400 บาท ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 50 วัน ของอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้ายรวมเป็นเงิน 32,350 บาท เงินพักผ่อนประจำปีในปีที่ถูกเลิกจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับรวมเป็นเงิน 6,470 บาท เงินโบนัสประจำปีในปีที่ถูกเลิกจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับโดยเฉลี่ยเป็นเวลา 25 วัน รวม 16,175 บาท เงินกองทุนเลี้ยงชีพตามกฎหมายที่จำเลยยังค้างชำระรวมเป็นเงิน 120,000 บาท ค่าเสียหายในการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ต้องลาออกจากงานไม่สามารถหางานที่อื่นได้ ซึ่งนายจ้างต้องชำระแก่จำเลยเป็นเวลา 22 เดือน รวมเป็นเงิน 426,800 บาท และค่าเสียหายเพราะนายจ้างเลิกจ้างจำเลยก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามอายุของโจทก์โดยถือเอาการเกษียณอายุในการทำงาน นายจ้างต้องชำระค่าขาดรายได้และค่าเสียหายเพิ่มไปจนจำเลยมีอายุครบ 60 ปี เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงิน 446,200 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,164,395 บาท แต่ตามคำขอท้ายฟ้องคดีแรงงานโจทก์ขอให้นายจ้างของจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยจ่ายค่าชดเชย 66,330 บาท ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 18,450 บาท เงินพักผ่อนประจำปี 5,166 บาท เงินโบนัสประจำปีในปีที่ถูกเลิกจ้าง 9,225 บาท ค่าเสียหายในการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม 132,660 บาท และค่าขาดรายได้ก่อนเกษียณอายุในการทำงานของจำเลย 243,210 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 475,041 บาท ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นายจ้างของจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 18,450 บาท ค่าชดเชย 66,330 บาท ค่าเสียหาย 132,660 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5,166 บาท แม้ศาลฎีกาจะพิพากษาให้นายจ้างของจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มจากที่ศาลแรงงานกลางพิพากษา แต่จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นก็เป็นจำนวนเงินตามที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องนั่นเอง เมื่อจำนวนเงินดังกล่าวแตกต่างจากจำนวนเงินตามคำบรรยายฟ้องเป็นอย่างมาก ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจว่าการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับชดใช้เงินน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ การที่จำเลยร้องเรียนโจทก์ต่อสภาทนายความ โดยระบุถึงการกระทำของโจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏแก่จำเลย โดยไม่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากความเป็นจริงจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ใช่เป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยมีเจตนาให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณหรือทางทำมาหาได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้างจำเลยหาได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำโดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายไม่ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นๆ ของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ




ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

ให้ใช้บ้านข่มขืนผิด "พรากผู้เยาว์" หรือไม่?
พรากผู้เยาว์เพื่อหากำไร,ความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม
พรากผู้เยาว์จากผู้ปกครองและผู้ดูแล
หมิ่นประมาทอายุความสามเดือน