ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก

จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก

การที่จำเลยขอให้ศาลฎีการอการลงโทษจำคุกให้โดยอ้างว่าจำเลยมีภาระต้องรับผิดชอบครอบครัว การกระทำความผิดในคดีนี้เป็นเพราะไม่อาจหลีกเลี่ยงคำสั่งนายจ้างได้ ข้ออ้างดังกล่าวเป็นความจำเป็นและเหตุผลส่วนตัว เพราะทุก ๆ คนก็มีภาระที่จะต้องรับผิดชอบไม่แตกต่างจากกัน การที่จำเลยใช้รถยนต์บนถนนหลวงที่มีหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มากโดยไม่นำพาว่าจะทำให้ถนนอันเป็นสมบัติของส่วนรวมเกิดความเสียหายและอาจทำให้ผู้ร่วมใช้ถนนในกานสัญจรต้องเสี่ยงต่ออันตรายการกระทำผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรงเหตุผลดังกล่าวไม่เพียงพอแก่การให้รอการลงโทษจำคุก

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10766/2551

  พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ซึ่งมาตรา 61 เดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นบทความผิดเช่นเดียวกัน ส่วนบทกำหนดโทษมาตรา 73 (เดิม) ได้แก้ไขและมีบทบัญญัติเพิ่มเติมเป็นมาตรา 73/2 ซึ่งมีโทษหนักกว่าโทษตามมาตรา 73 (เดิม) การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 และมาตรา 73 โดยมิได้ขอมาตรา 73/2 (ที่แก้ไขใหม่) มาด้วย เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไป ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ไม่เกินคำขอ

          คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องมิใช่คดีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังยุติได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นอย่างไรและจำเลยจำนนต่อพยานหลักฐานเช่นว่านั้นหรือไม่ คำรับสารภาพของจำเลยจึงเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ตาม ป.อ. มาตรา 78

 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 4, 6, 61, 73 และ 75
          จำเลยให้การรับสารภาพ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 73 ประกอบมาตรา 61 จำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานจึงไม่ลดโทษให้ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

          โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 73/2 ประกอบมาตรา 61 วรรคหนึ่ง ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 73/2 เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 นั้น เห็นว่า ปรากฏตามคำขอท้ายฟ้องว่า โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 แต่ขณะจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2550 มีพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ออกใช้บังคับโดยมาตรา 25 และมาตรา 29 ให้เลิกความในมาตรา 61 และมาตรา 73 เดิม และให้ใช้ความใหม่แทนโดยมาตรา 61 ทั้งพระราชบัญญัติทางหลวงฉบับเดิมและฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ยังบัญญัติเป็นบทความผิดห้ามการใช้ยานพาหนะบนทางหลวง โดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าผู้อำนายการทางหลวงได้ประกาศกำหนดเช่นเดียวกัน ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 (เดิม) ได้แก้ไขและมีบทบัญญัติเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 30 เป็นมาตรา 73/2 ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพียงแต่มาตรา 73/2 กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหนักกว่าโทษตามมาตรา 73 ของกฎหมายเดิม ที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่โจทก์ยังคงขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 และมาตรา 73 โดยมิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 73/2 เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยใช้ยานพาหนะบนทางหลวง โดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 18,500 กิโลกรัม โดยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเพียงใดต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม และมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน การกระทำดังกล่าวของจำเลยย่อมทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง ที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาว่า จำเลยมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวและจำต้องกระทำความผิดในคดีนี้เพราะไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดคำสั่งของนายจ้าง ก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น บุคคลทั่ว ๆ ไปในสถานะเช่นเดียวกับจำเลยก็มีภาระที่ไม่แตกต่างไปจากจำเลย จำเลยไม่อาจอ้างภาระความจำเป็นส่วนตัวเพื่อก่อภาระให้แก่สังคมโดยรวมได้ ทั้งเหตุดังกล่าวก็ไม่เพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นอย่างไรและจำเลยจำนนต่อพยานหลักฐานเช่นว่านั้น คำรับสารภาพของจำเลยจึงเป็นการให้ความรู้แก่ศาล อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มิใช่จำเลยให้การรับสารภาพก็เพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน คดีย่อมมีเหตุบรรเทาโทษ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ลดโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยให้เหมาะสมตามความผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง มาตรา 215 และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

          พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขัง 1 เดือนแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

  ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง , 192 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคห้า

  มาตรา 176 ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มี ข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตรา โทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

มาตรา 192 ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอหรือที่มิได้กล่าว ในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่าง กับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อ แตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะ ลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับ เวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิด ฐานลักทรัพย์ กรรโชกรีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับ ของโจร และทำให้เสียทรัพย์หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิด โดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่ โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลย เกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดั่งกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏ ในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐาน ความผิดหรือบท มาตรา ผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐาน ความผิดที่ถูกต้องได้

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่าง อาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิด อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

ป.อ. มาตรา 78

มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมาย อื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควร จะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษ ที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้

เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบา ปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึก ความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อ เจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาล อันเป็นผลประโยชนแก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

มาตรา 4 ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับในศาลแขวง แต่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้บังคับ ให้คงใช้กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งบังคับ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนและกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน

พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73, 73/2

มาตรา 61  เพื่อรักษาทางหลวง ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวงโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย

ประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมทางหลวงสำหรับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน หรือได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมทางหลวงชนบท สำหรับทางหลวงชนบท หรือได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับทางหลวงท้องถิ่น

ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือไม่ปลอดภัยแก่การจราจรในทางหลวง ให้เจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงมีอำนาจประกาศห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวงนั้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้ปิดประกาศนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ บริเวณที่มีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นนั้น

มาตรา 73  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 40 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 73/2  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 59 วรรคหนึ่ง หรือฝ่าฝืนประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง หรือประกาศของเจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงตามมาตรา 61 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ




ความรับผิดในทางอาญา

ต้องใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย
การลดมาตราส่วนโทษ