ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




เป็นฝ่ายออกจากบ้านไปเองไม่เป็นการละทิ้งร้างเกินกว่า 1 ปี

เป็นฝ่ายออกจากบ้านไปเองไม่เป็นการละทิ้งร้างเกินกว่า 1 ปี

เมื่อสามียอมรับเองว่าตนเองเป็นผู้ออกจากบ้านพักของภริยาไปเอง กรณีจึงถือว่าสามีสมัครใจแยกกันอยู่กับภริยาฝ่ายเดียว ภริยาหาได้สมัครใจแยกกันอยู่กับสามีแต่อย่างใดไม่ ไม่ถือว่าภริยาได้ละทิ้งร้างสามีเกินกว่าหนึ่งปี อันจะเป็นเหตุให้สามีอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าภริยาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)  พิพากษาแก้เป็นว่า ให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย.และเด็กหญิง. คนละ 3,750 บาท จนกว่าเด็กชาย.จะบรรลุนิติภาวะ จากนั้นให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง. เป็นเงิน 7,500 บาท นับแต่เดือนที่เด็กชาย.บรรลุนิติภาวะเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2345/2552

          โจทก์ฟ้องโดยอาศัยเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) โดยอ้างว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปีไม่ได้ระบุถึงการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมา แม้โจทก์จะอ้างข้อตกลงแยกทางตามเอกสารท้ายคำฟ้องก็ตาม แต่เหตุหย่าตาม มาตรา 1516 (4/2) นั้น ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีก คือต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมา ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบดังกล่าวไว้ ฟ้องของโจทก์ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่มีเหตุหย่าตามบทบัญญัติในมาตรา 1516 (4/2)

          โจทก์ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ออกจากบ้านพักของจำเลยไปเอง กรณีจึงถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยหาได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่อย่างใดไม่ จำเลยจึงไม่ได้ละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)


มาตรา 1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยหย่าขาดจากโจทก์ทันที และให้บุตรทั้งสองอยู่ในความปกครองของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปกครองร่วมกันกับจำเลย

  จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรทั้งสองของโจทก์โดยให้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองอยู่ในความปกครองของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว

   โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 7,500 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2545 เป็นต้นไป และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือนที่โจทก์ได้รับเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนนับแต่เดือนธันวาคม 2545 จนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองในส่วนที่ขาด 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 160,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา (19 พฤศจิกายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้เด็กชายชาญศักดิ์และเด็กหญิงศิรินภาอยู่ในความปกครองของจำเลยฝ่ายเดียว ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ คำขออื่นตามฟ้องและฟ้องแย้งให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะข้อที่ขอหย่าจำเลย ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับประเด็นเรื่องฟ้องหย่านี้ จำเลยได้แก้ฎีกาด้วยว่า โจทก์ฟ้องโดยอาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4) “จงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี” มิได้อ้างเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) “สมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี” ฎีกาของโจทก์ที่อ้างเหตุการแยกกันอยู่เกินสามปี จึงเป็นการฎีกานอกคำฟ้อง โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้ศาลฎีกาบังคับให้โจทก์จำเลยหย่ากันตามมาตรา 1516 (4/2) ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าควรหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเป็นข้อแรกว่า เหตุหย่าที่โจทก์กำหนดในฟ้องมีเพียงกรณีตามมาตรา 1516 (4) เพียงประการเดียว หรือสองประการตามมาตรา 1516 (4) และมาตรา 1516 (4/2) เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุเหตุหย่าเพียงการละทิ้งร้างกันเกินกว่าหนึ่งปี ไม่ได้ระบุถึงการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี และแม้ว่าคำฟ้องโจทก์แนบข้อตกลงฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2540 ที่ระบุไว้ในข้อ 1 ถึงข้อตกลงแยกทางกันด้วยว่า “...นางศรัญญา (จำเลย) ...มีความประสงค์ขอแยกทางกันอยู่กับนายวันชัย (โจทก์) และนายวันชัยก็ยินยอม” ไว้ท้ายคำฟ้องก็ตาม แต่เหตุหย่าตาม 1516 (4/2) นั้น ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกคือ ต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาด้วย ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบดังกล่าวไว้ ฟ้องของโจทก์ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ไม่ถือว่าคำฟ้องโจทก์มีเหตุหย่าตามบทบัญญัติในมาตรา 1516 (4/2) กรณีสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีด้วย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับวินิจฉัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) ดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ดังนั้นเหตุหย่าที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จึงมีเพียงประเด็นเดียวคือ เหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4) กรณีจงใจละทิ้งร้างเกินหนึ่งปีเท่านั้น คำแก้ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์กับจำเลยได้สมัครใจแยกกันอยู่เป็นเวลาสามปีก่อนฟ้อง

        สำหรับเหตุหย่าเนื่องจากจงใจละทิ้งร้างเกินหนึ่งปีนี้ เห็นว่า ตามบันทึกตกลง นั้นได้บันทึกถึงเหตุที่โจทก์และจำเลยต้องทำบันทึกดังกล่าวที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านตากไว้ เนื่องจากโจทก์ไปมีความสัมพันธ์กับนางสาวอภิญญา ซึ่งต่อมาก็เป็นภริยาอีกคนหนึ่งของโจทก์และมีบุตรด้วยกันกับโจทก์ 1 คน โจทก์เบิกความยอมรับว่า ระหว่างที่โจทก์กับจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากันนั้น จำเลยไม่เคยประพฤติตนเสื่อมเสียเกี่ยวกับเรื่องชู้สาว หรือทำให้โจทก์เสื่อมเสียเกี่ยวกับหน้าที่การงาน จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องแยกทางกับโจทก์ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องดูแลบุตรทั้งสองแต่ลำพัง การบันทึกข้อความเรื่องแยกกันอยู่ดังกล่าวจึงเป็นความประสงค์อันเป็นเจตนาของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว ดังที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว การที่จำเลยยอมลงลายมือชื่อในบันทึกตกลง เชื่อว่าเป็นเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์จริงตามที่จำเลยนำสืบ ดังเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยไว้จึงชอบแล้ว การที่จำเลยยอมลงชื่อในบันทึก ดังกล่าวแม้ว่าจะตกลงกันเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูกันมาก่อนดังที่โจทก์ฎีกา ก็ยิ่งย้ำให้เห็นชัดแจ้งว่ามีสาระเพื่อได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง กรณีจึงไม่ใช่กล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ ดังที่โจทก์ฎีกา การพิจารณาข้อความในบันทึกตกลง ในเรื่องแยกกันอยู่ จึงพิจารณาเฉพาะข้อความในเอกสารโดยไม่พิจารณาถึงเจตนาของจำเลยดังที่โจทก์ฎีกาย่อมไม่ชอบ ทั้งโจทก์ก็รับว่าโจทก์เป็นผู้ออกจากบ้านพักของจำเลยไปเอง กรณีจึงถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยหาได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ได้ละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตามมาตรา 1516 (4) ซึ่งการไม่ให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยนี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับข้อยุติเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งโจทก์ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลล่าง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป กรณีจึงไม่มีเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 (4) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง สิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลที่จะได้รับ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง รวมกันมาเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายชาญศักดิ์ และเด็กหญิงศิรินภา คนละ 3,750 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2545 เป็นต้นไป และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือนที่โจทก์ได้รับเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนนับแต่เดือนธันวาคม 2545 จนกว่าเด็กชายชาญศักดิ์จะบรรลุนิติภาวะ จากนั้นให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงศิรินภาเป็นเงิน 7,500 บาท นับแต่เดือนที่เด็กชายชาญศักดิ์บรรลุนิติภาวะเป็นต้นไป และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือนที่โจทก์ได้รับเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนนับแต่เดือนที่เด็กชายชาญศักดิ์บรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท.     




ค่าอุปการะเลี้ยงดู

อ้างรายจ่ายและหนี้สินมากกว่ารายรับ
ศาลกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูอย่างไร?