ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




สิทธิจำนองครอบไปถึงทรัพย์สินจำนองหมดทุกสิ่ง

สิทธิจำนองครอบไปถึงทรัพย์สินจำนองหมดทุกสิ่ง

สามีจดทะเบียนจำนองเป็นเวลา 19 ปี ไม่ปรากฏว่าภริยาได้ใช้สิทธิโต้แย้งการทำนิติกรรมจำนองของสามี จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าภริยาได้รับรู้และไม่คัดค้าน เมื่อมิได้นำสืบให้รับฟังว่าผู้รับจำนองจดทะเบียนรับจำนองโดยรู้อยู่แล้วว่าสามี มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จำนองแต่ผู้เดียว ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าผู้รับจำนองรับจดทะเบียนไว้โดยสุจริต นิติกรรมจำนองทรัพย์สินจึงมีผลบริบูรณ์ตามกฎหมาย เจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองได้ทั้งหมด เพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่บุคคลทั่วไป

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4803/2553

          ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับผู้ร้อง เมื่อบุคคลทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันสินสมรสต้องแบ่งให้แก่จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องคนละส่วนเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 จำเลยที่ 1 และผู้ร้องจดทะเบียนหย่ากันโดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่ผู้ร้องแต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้จึงไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังคงเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่าๆ กัน

          นับแต่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินสินสมรสเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2517 แก่ ส. ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน ก็ได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนจำนองแก่นิติบุคคลอื่นอีกหลายรายต่อเนื่องกันมาโดยตลอดจนถึงโจทก์ซึ่งจดทะเบียนรับจำนองครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 19 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ใช้สิทธิโต้แย้งการทำนิติกรรมจำนองของจำเลยที่ 1 จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าผู้ร้องได้รับรู้และไม่คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบให้รับฟังได้ว่าโจทก์จดทะเบียนรับจำนองโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จำนองแต่ผู้เดียว ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าโจทก์รับจำนองโดยสุจริต นิติกรรมจำนองทรัพย์สินดังกล่าวจึงมีผลบริบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองได้ทั้งหมดเพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่ผู้ร้องและบุคคลทั่วไป อีกทั้งถือได้ว่าการยื่นคำร้องขอกันส่วนของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท
 

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา

          ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกันส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของผู้ร้องออกจากการขายทอดตลาด หากไม่อาจกันส่วนดังกล่าวได้ขอให้มีคำสั่งกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้ผู้ร้องกึ่งหนึ่ง

          โจทก์ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและบ้านตามคำร้องกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนเงินที่ได้จากการบังคับคดีขายทอดตลาดหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับผู้ร้อง ซึ่งเมื่อบุคคลทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันสินสมรสต้องแบ่งให้แก่จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องคนละส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 แม้จำเลยที่ 1 และผู้ร้องจดทะเบียนหย่ากัน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2530 โดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง แต่เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังคงเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่า ๆ กัน

อย่างไรก็ตามนับแต่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2517 แก่นายสุวิชซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน ก็ได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนจำนองแก่นิติบุคคลอีกหลายรายต่อเนื่องกันมาโดยตลอดจนถึงโจทก์ซึ่งรับจดทะเบียนจำนองครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 19 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ใช้สิทธิโต้แย้งการทำนิติกรรมจำนองของจำเลยที่ 1 จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าผู้ร้องได้รับรู้และไม่คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบให้รับฟังว่าโจทก์จดทะเบียนรับจำนองโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จำนองแต่ผู้เดียว ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริต นิติกรรมจำนองทรัพย์สินดังกล่าวจึงมีผลบริบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองได้ทั้งหมด เพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่ผู้ร้องและบุคคลทั่วไป อีกทั้งถือได้ว่าการยื่นคำร้องคดีนี้ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้องกึ่งหนึ่งนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

          พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

 




จำนอง

จำนองย่อมระงับสิ้นไปเมื่อหนี้ระงับ
ความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน