ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




สัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือ

สัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือ

หนังสือสัญญาตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกัน จำเลยได้รับ ส.ค.1 ที่เชิงทะเลไปแล้ว และจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทส่วนของบิดาที่รับมรดกมาให้โจทก์ ขณะทำสัญญาที่ดินพิพาทยังมีชื่อบิดาจำเลย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดอยู่ ทั้งสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อรับโอนมรดกแล้ว ข้อตกลงตามสัญญา จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายจำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5526/2541

 หนังสือสัญญาเอกสารท้ายฟ้องที่จำเลยได้ทำกับ ร. มีข้อความระบุว่าตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกัน โดยที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมของ ร. และบิดาจำเลย เนื่องจากบิดาจำเลยถึงแก่กรรม จำเลยจะขอรับมรดกที่พิพาทส่วนของบิดา เมื่อได้รับมรดกที่พิพาทหนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยยอมโอนกรรมสิทธิ์ ที่พิพาทส่วนของบิดาที่รับมรดกเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ให้แก่ ร. ส่วน ร. จะโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยต่อมามีการบันทึกเพิ่มเติมว่า จำเลยได้รับ ส.ค.1 ที่เชิงทะเลไปแล้ว จำเลยจะโอนที่พิพาทให้แก่พวกลูก ร. เมื่อถึงเวลาพวกลูกของ ร. ต้องการ จำเลยจะโอนให้ทันที ดังนี้เมื่อขณะทำสัญญาที่ดินพิพาทยังมีชื่อบิดาจำเลย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดอยู่ ทั้งสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อรับโอนมรดกแล้วข้อตกลงตามสัญญา จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายจำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ร. ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยได้ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยได้รับที่ดินของ ร. ตามสัญญาครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิเรียกให้แบ่งที่พิพาท จำเลยมีหน้าที่ต้องโอนส่วนของจำเลยในโฉนดที่พิพาทให้โจทก์ เมื่อจำเลยเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงต้องผูกพันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ทั้งสอง ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ร.

  โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายร่วง มณีศรี เดิมนายร่วงกับจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 2052 ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2510 นายร่วงทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกับจำเลยโดยนายร่วงจะได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2052 ทั้งแปลง ฝ่ายจำเลยจะได้ที่ดินของนายร่วง ซึ่งอยู่ที่บ้านบางเทาไปทั้งหมดตามหนังสือสัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3หลังจากนั้นนายร่วงเข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 2052ครั้นนายร่วงถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสองและทายาทของนายร่วงได้ครอบครองที่ดินต่อมา ส่วนจำเลยครอบครองที่ดินของนายร่วงที่บ้านบางเทา และได้รับเอกสารเกี่ยวกับที่ดินไปแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2052 ส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2052ส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากไม่ไปโอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนกับให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมในการโอนค่าภาษี ค่าใช้จ่าย หรือค่าอื่นใดที่ทางสำนักงานที่ดินเรียกเก็บกึ่งหนึ่ง

          จำเลยให้การว่า ที่ดิน 1 ใน 3 แปลง ที่นายร่วงนำมาแลกเปลี่ยนกับจำเลย คือที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 321 นายร่วงได้นำไปขายให้แก่กระทรวงเกษตราธิการ ตั้งแต่ปี 2465 จำเลยสำคัญผิดว่าที่ดินยังเป็นของนายร่วง อยู่ สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินจึงเป็นโมฆะ จำเลยเพิ่งทราบความจริงเมื่อได้รับ ส.ค.1 จากโจทก์ในปี 2525 ภายหลังนายร่วงถึงแก่กรรม หลังจากนั้นจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกับโจทก์ และในปี 2531 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแทนการฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินโจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินได้อีกขอให้ยกฟ้อง

          ก่อนสืบพยาน โจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างแถลงไม่สืบพยานโดยขออ้างถ้อยคำสำนวนและเอกสารในสำนวนคดีแพ่งของศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 427/2531, 192/2532 และ 943/2538 เป็นพยานประกอบการพิจารณา

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2052ส่วนของจำเลยให้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายร่วง มณีศรี หากจำเลยไม่ไปโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนและให้จำเลย ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนกึ่งหนึ่ง คำขออื่นให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า นิติกรรมแลกเปลี่ยนที่ดินตกเป็นโมฆะ เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิฎีกาได้นั้น ศาลพิเคราะห์หนังสือสัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งจำเลยรับว่าเป็นสัญญาที่จำเลยได้ทำกับนายร่วงนั้น มีข้อความระบุว่าตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกันโดยที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมของนายร่วงและบิดาจำเลย เนื่องจากบิดาจำเลยถึงแก่กรรม จำเลยจะขอรับมรดกที่พิพาทส่วนของบิดาเมื่อได้รับมรดกที่พิพาทนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทส่วนของบิดาที่รับมรดกเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ให้แก่นายร่วง ส่วนนายร่วงจะโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยต่อมามีการบันทึกเพิ่มเติมว่า จำเลยได้รับ ส.ค.1 ที่เชิงทะเลไปแล้วจำเลยจะโอนที่พิพาทให้แก่พวกลูกนายร่วง เมื่อถึงเวลาพวกลูกนายร่วงต้องการจำเลยจะโอนให้ทันที เห็นว่า ขณะทำสัญญาที่ดินยังมีชื่อบิดาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดอยู่ ทั้งสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อรับโอนมรดกแล้ว ดังนั้นข้อตกลงตามสัญญาจึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายจำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายร่วง มีสิทธิฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยได้ไม่ตกเป็นโมฆะ

          จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า คำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 192/2532 ไม่ผูกพันจำเลย ศาลควรรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 943/2538 ประกอบการวินิจฉัย ปัญหาในคดีนี้เห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 192/2532 ซึ่งถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยได้รับที่ดินตำบลเชิงทะเลของนายร่วงตามสัญญาครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิเรียกให้แบ่งที่พิพาท จำเลยมีหน้าที่ต้องโอนส่วนของจำเลยในโฉนดเลขที่ 2052 ซึ่งเป็นที่พิพาทให้โจทก์ เมื่อจำเลยเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงต้องผูกพันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นจำเลยจึงต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการร่วมกันของนายร่วง
          พิพากษายืน

ป.พ.พ.

มาตรา 456  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

มาตรา 519  บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบและเป็นผู้ซื้อในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น

มาตรา 1736  ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดก หรือผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัว ยังไม่ได้รับชำระหนี้ หรือส่วนได้ตามพินัยกรรมแล้วทุกคน ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ
ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใดๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่นฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่นๆ อนึ่งผู้จัดการมรดกต้องทำการทุกอย่างตามที่จำเป็น เพื่อเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกภายในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะทำได้ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก

ป.วิ.พ.

มาตรา 145  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา และการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี
ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่บุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1), 245 และ 274 และในข้อต่อไปนี้
(1) คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หรือคำพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลายเหล่านี้ บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้
(2) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า




ซื้อขาย

ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินสินสมรส
ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดิน
การซื้อขายบ้านในลักษณะที่คงสภาพเป็นอสังหาริมทรัพย์
หน้าที่ของผู้ซื้อและผู้ขาย, ผิดสัญญาตัวแทนจัดจำหน่าย,
สัญญาซื้อขายที่ดินติดจำนองกับธนาคาร
ซื้อขายที่ดินไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์
ภาษีธุรกิจเฉพาะ | โอนกรรมสิทธิไม่มีค่าตอบแทน
ความรับผิดของผู้ขายก่อนเข้าทำสัญญา
การเสียภาษีผิดประเภทการค้า-ภาษีการค้าในประเภทการขาย
ผิดสัญญาไม่เป็นละเมิด-การไม่ปฏิบัติตามสัญญาไม่เป็นการละเมิด
ค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์
ฝ่ายที่วางมัดจำไม่ชำระหนี้ให้ริบเงินมัดจำ
ความรับผิดของนิติบุคคลก่อนจดทะเบียนห้างฯ
ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน | หนังสือมอบอำนาจปลอม