ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




คำสั่งศาลชั้นต้นให้รับฎีกาไม่ชอบศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

 คดีอาญาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาโดยตรงไม่ได้

จำเลยฎีกาว่าจำเลยจัดให้เล่นแชร์โดยจำเลยมิได้ส่งเงินเข้าทุนกองกลาง ไม่มีการเปียร์แชร์แข่งกันในแต่ละงวดจึงไม่ถือเป็น“การเล่นแชร์” ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังได้ตามคำฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าได้จัดให้มีการเล่นแชร์ทุกวงตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ห้ามมิให้ฎีกา คำสั่งศาลชั้นต้นให้รับฎีกาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลลงโทษจำคุกจำเลยในแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี อันต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา หากจำเลยประสงค์จะฎีกาจำเลยต้องยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา ที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาโดยตรง และรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ศาลฎีกาจึงไม่รับปัญหานี้ไว้วินิจฉัยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4257/2566

คดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หากจำเลยประสงค์จะฎีกาในปัญหาดังกล่าว จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าวโดยตรง และรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า “สั่งในฎีกา” และมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยว่า “จำเลยยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลขยายให้โดยมาแสดงตนต่อศาล รับฎีกาจำเลย สำเนาให้โจทก์แก้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาฎีกา ปิดได้” จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่ง ทั้งนี้ แม้คำร้องของจำเลยจะมีใจความทำนองว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดก็ตาม ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจแก่ศาลฎีกาที่จะก้าวล่วงมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาได้ จึงให้ยกคำร้อง และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 อนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองให้ฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 6, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2) (3) (4), 17 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 15 กระทง เป็นจำคุก 90 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 45 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีเหตุสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า สมควรรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยจัดให้เล่นแชร์ตามคำฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.5, 1.8, 1.9, 1.11 และ 1.12 รวม 8 กระทง โดยจำเลยมิได้ส่งเงินเข้าทุนกองกลาง และไม่มีการจัดประมูลแข่งกันเป็นงวด ๆ อันไม่ต้องด้วยบทนิยาม “การเล่นแชร์” ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องในข้อดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 6 นั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและไม่สืบพยาน ทางพิจารณาจึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์แต่ละวงในรูปแบบหรือลักษณะใด จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงไปตามคำฟ้องและตามที่จำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์ทุกวงตามนิยามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 อีกทั้งจำเลยเพิ่งยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 อันต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาในปัญหานี้มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 6 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุกกระทงละ 3 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามศาลล่าง และให้ลงโทษจำคุกจำเลยในแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี อันต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หากจำเลยประสงค์จะฎีกาในปัญหาดังกล่าว จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าวโดยตรง และรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า “สั่งในฎีกา” และมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยว่า “จำเลยยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลขยายให้โดยมาแสดงตนต่อศาล รับฎีกาจำเลย สำเนาให้โจทก์แก้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาฎีกา ปิดได้” จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่ง ทั้งนี้ แม้คำร้องของจำเลยจะมีใจความทำนองว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดก็ตาม ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจแก่ศาลฎีกาที่จะก้าวล่วงมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาได้ จึงให้ยกคำร้อง และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 อนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ศาลฎีกาจึงไม่รับปัญหานี้ไว้วินิจฉัยเช่นกัน

พิพากษายกฎีกาของจำเลย

 




ต้องห้ามฎีกา

คำให้การในชั้นสอบสวนกับ คำเบิกความในชั้นพิจารณาแตกต่างกัน
ต้องห้ามฎีกา แม้รับรองให้ฎีกาได้