ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




สิทธิให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดิน สินสมรส และมรดกของผู้ตาย

ซื้อที่ดินใส่ชื่อภริยาถือกรรมสิทธิ์คนเดียวสามีตาย ภริยาขายไม่แบ่งทายาทสามี    

สามีภริยาชอบด้วยกฎหมายซื้อที่ดิน 4 แปลงโดยวิธีผ่อนชำระแต่ใส่ชื่อภริยาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส เมื่อสามีตายสินสมรสส่วนของสามีย่อมเป็นมรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย การที่ภริยาโอนให้โดยเสน่หาที่ดินทั้ง 4 แปลงให้กับบุคคลใกล้ชิดเป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก ต่อมาที่ดินทั้ง 4 แปลงถูกโอนขายให้บุคคลภายนอกไปโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตและจดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว บุคคลภายนอกมิอาจทราบได้ว่าที่ดิน 4 แปลงกึ่งหนึ่งเป็นสินสมรสของผู้ตาย แม้ที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมแล้วก็ตามจึงเป็นการได้อสังหาริมทรัพย์มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ทายาทโดยธรรมมีสิทธิจดทะเบียนการได้มาที่ดินได้อยู่ก่อน แต่มิได้จดทะเบียนการได้มาจึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกและไม่อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนของบุคคลภายนอก

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5278/2552

   ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และได้มาระหว่างจำเลยที่ 1 และ ผ. เจ้ามรดกเป็นคู่สมรส กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ว่าเป็นสินสมรส

   ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นมรดกของ ผ. กึ่งหนึ่งตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ดังนั้นการได้ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงของทายาทโดยธรรมจึงเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ผ. เป็นผู้แทนของทายาทโดยธรรมมีสิทธิจดทะเบียนการได้มาที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงได้ก่อน เมื่อโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาจึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

   โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย กึ่งหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 8159, 8160, 11674 และ 11675 ดังกล่าว เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2542 เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งในที่ดินทั้ง 4 แปลง ดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบและโอนที่ดินทั้ง 4 แปลง เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งในที่ดินทั้ง 4 แปลง โดยปลอดภาระจำนอง หากจำเลยทั้งสี่ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หรือไถ่ถอนจำนองให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจดทะเบียนโอน และไถ่ถอนจำนองทั้งสิ้น หากสภาพบังคับไม่เปิดช่องให้บังคับได้ก็ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และนางสาวจันทรกานต์ เกิดนวล(จำเลยร่วม) ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินทั้ง 4 แปลง จากจำเลยที่ 2 ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยไม่ชำระค่าตอบแทนและไม่สุจริต ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ราคาที่ดินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

    จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามฟ้องทั้ง 4 แปลง จากจำเลยที่ 4 แล้วจดทะเบียนขายโดยไม่ชำระค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริตแก่นางสาวจันทรกานต์ ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 กับขอให้เรียกนางสาวจันทรกานต์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมและขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายระหว่างจำเลยที่ 2 และนางสาวจันทรกานต์เฉพาะส่วนของจ่าสิบเอกผาด ผู้ตายกึ่งหนึ่ง แล้วจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์หากไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับให้เรียกนางสาวจันทรกานต์เข้าเป็นจำเลยร่วม

          จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง

    ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท

    โจทก์อุทธรณ์
          ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยที่ 2 ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นคู่ความแทน

    ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับเป็นว่า ให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้มรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8159, 8160, 11674 และ 11675 ตำบลนครสวรรค์ (ปากน้ำโพ) (ที่ถูก ตำบลนครสวรรค์ตก (ปากน้ำโพ)) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนที่เป็นของจ่าสิบเอกผาด เจ้ามรดกกึ่งหนึ่ง ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของจ่าสิบเอกผาด เจ้ามรดกกึ่งหนึ่งตามสัญญาให้ลงวันที่ 4 กันยายน 2541 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินลงวันที่ 27 มีนาคม 2543 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วม ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วม ร่วมกันส่งมอบและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ดังกล่าวในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของจ่าสิบเอกผาด เจ้ามรดกกึ่งหนึ่ง ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 13,000 บาท
   จำเลยร่วมฎีกา

          ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นางวีณา ในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และในฐานะจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางสาวยุวดี บุตรสาวของจำเลยที่ 2 ขอเข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์และจำเลยร่วมไม่คัดค้าน

  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีพยานคือตัวโจทก์และนายประดิษฐ์ ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกผาดเบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง จ่าสิบเอกผาดเป็นผู้ซื้อโดยวิธีผ่อนชำระ แต่ให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว เงินที่ผ่อนชำระเป็นเงินเดือนและรายได้พิเศษจากการทำหน้าที่จัดการร้านค้าสโมสรทหารของค่ายจิระประวัติกับดอกเบี้ยเงินกู้ จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่แม่บ้านไม่ได้ประกอบอาชีพ นอกจากนี้โจทก์ยังมีจ่าสิบเอกเฉลิมเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า รู้จักกับจ่าสิบเอกผาดเนื่องจากรับราชการหน่วยเดียวกัน จ่าสิบเอกผาดมีหน้าที่ขายเครื่องอุปโภคบริโภคอยู่ที่สโมสรทหารรวมทั้งออกเงินให้กู้ จำเลยที่ 1 เป็นภริยาจ่าสิบเอกผาดทำหน้าที่แม่บ้าน จ่าสิบเอกผาดมีฐานะดีกว่าผู้รับราชการด้วยกัน คำของโจทก์ นายประดิษฐ์และจ่าสิบเอกเฉลิมสอดคล้องต้องกันว่า นอกจากรายได้จากเงินเดือนแล้วจ่าสิบเอกผาดยังทำหน้าที่พิเศษในร้านค้าสโมสรทหารกับปล่อยเงินกู้ โจทก์และนายประดิษฐ์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกผาดและอยู่อาศัยด้วยกันในบ้านพักของทางราชการกับจ่าสิบเอกผาดและจำเลยที่ 1 ย่อมจะทราบความเป็นไปและฐานะในครอบครัวของจ่าสิบเอกผาด ส่วนจ่าสิบเอกเฉลิมรับราชการที่เดียวกับจ่าสิบเอกผาดย่อมจะทราบว่าจ่าสิบเอกผาดมีฐานะอย่างไรและมีหน้าที่การงานอย่างใด คำของโจทก์ นายประดิษฐ์และจ่าสิบเอกเฉลิมมีน้ำหนักให้รับฟัง จำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้จ่าสิบเอกผาดใช้เงินของจ่าสิบเอกผาดซึ่งเป็นเงินผ่อนโดยได้จากเงินเดือนและการค้าขายของจ่าสิบเอกผาด คำของจำเลยที่ 1 จึงเจือสมกับคำพยานของโจทก์ดังกล่าว ส่วนจำเลยร่วมคงมีแต่จำเลยร่วมเบิกความเพียงว่า ก่อนที่ดินจะเป็นของจำเลยที่ 2 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คำของจำเลยร่วมจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ประกอบกับที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ได้มาระหว่างจ่าสิบเอกผาดและจำเลยที่ 1 เป็นคู่สมรส กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) ว่าเป็นสินสมรส พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานจำเลยร่วม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นสินสมรสของจ่าสิบเอกผาดและจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยร่วมฎีกาในทำนองว่าจ่าสิบเอกผาดและจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาระหว่างสมรสแบ่งทรัพย์สินกันโดยให้ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วมไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องนอกประเด็น จำเลยร่วมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมรับโอนที่ดินพิพาทโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตหรือไม่ โจทก์คงมีแต่ตัวโจทก์เบิกความว่า ทนายโจทก์ได้ยื่นหลักฐานต่อทางราชการขอถ่ายเอกสารและรับรองสำเนาเอกสารปรากฏตามสำเนาคำขอเอกสารหมาย จ.13 ดังนั้น ในการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วม จำเลยร่วมน่าจะทราบว่า ทางผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอกผาดกำลังรวบรวมทรัพย์มรดก และราคาที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ซื้อขายในราคา 1,200,000 บาท ซึ่งความจริงราคาที่ดิน 1,300,000 บาท จึงต่ำกว่าความจริง ตามคำของโจทก์ดังกล่าวเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าการโอนมีค่าตอบแทนแต่ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยร่วมทราบว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นทรัพย์มรดก เอกสารหมาย จ.13 ก็ไม่ได้ระบุว่า ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นทรัพย์มรดก ทั้งเอกสารหมาย จ.13 ก็เป็นเพียงเอกสารตามปกติทั่วไปซึ่งเก็บไว้ ที่สำนักงานที่ดินตามระเบียบราชการเท่านั้นไม่ได้เป็นเอกสารที่มีลักษณะพิเศษที่บุคคลภายนอกจะสนใจ แม้หากบุคคลใดพบเห็นก็ไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นสินสมรสระหว่างจ่าสิบเอกผาดกับจำเลยที่ 1 อนึ่ง ราคาที่ดิน 1,300,000 บาท เป็นเพียงราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 เพื่อใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเท่านั้น ซึ่งก็ไม่สูงกว่าราคา 1,200,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายให้แก่จำเลยร่วม เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันก่อนที่เจ้าพนักงานจะประเมินเกือบ 1 ปี มากนัก จำเลยร่วมก็เบิกความยืนยันว่า ซื้อจากจำเลยที่ 2 ในราคา 2,300,000 บาท แต่เจ้าพนักงานที่ดินให้ระบุในราคาที่จดทะเบียนตามราคาประเมิน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยร่วมถามค้านทำนองเดียวกัน คำเบิกความดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นข้อที่ทราบกันโดยทั่วไปในกลุ่มของบุคคลผู้ค้าที่ดินว่าราคาที่จดทะเบียนซื้อขายที่ดินมักจะคิดตามราคาประเมินที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าธรรมเนียมให้น้อยลง ดังนี้ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยร่วมรับโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง โดยไม่สุจริตประกอบกับโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ไม่ปรากฏชื่อของจ่าสิบเอกผาด เมื่อจำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 เคยนำไปจำนองแก่ธนาคารจำเลยที่ 4 เพื่อประกันหนี้จำเลยที่ 3 ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่า บุคคลภายนอกย่อมเชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวก่อนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี จำเลยร่วมมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ทั้งที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ การที่จำเลยร่วมสืบทราบแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อในทางทะเบียนโดยไม่ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงไปจำนองไว้แก่ธนาคารจำเลยที่ 4 เพื่อเป็นประกันหนี้ จำเลยร่วมเพิ่งจะทราบในวันจดทะเบียนรับโอนโดยจำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองและขายให้แก่จำเลยร่วมในวันเดียวกันก็เป็นเรื่องปกติทั่วไป ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าจำเลยร่วมไม่สุจริต หาเป็นข้อพิรุธว่าจำเลยร่วมไม่สุจริตดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยไม่ จำเลยร่วมมีหลักฐานแคชเชียร์เช็คราคา 1,000,000 บาท ที่สั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่าการโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ระหว่างจำเลยร่วมและจำเลยที่ 2 เป็นการโอนมีค่าตอบแทน นอกจากนี้เมื่อจำเลยร่วมรับโอนมาแล้ว ยังได้ขอรวมโฉนดที่ดินเป็นแปลงเดียว และว่าจ้างให้นายวิชัย มาทำการถมที่ดินเพื่อทำการก่อสร้างหอพักโดยนายวิชัยก็เบิกความยืนยันว่าได้รับจ้างถมที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ก็เบิกความว่า ที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นบึงและป่า จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่าคำของจำเลยร่วมมีน้ำหนักยิ่งขึ้นว่าจำเลยร่วมกระทำการโดยสุจริต ยิ่งกว่านั้นขณะจ่าสิบเอกผาดมีชีวิต จ่าสิบเอกผาดก็ไม่ดำเนินการใส่ชื่อจ่าสิบเอกผาดในโฉนดที่ดินให้ปรากฏตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1475 ครั้นเมื่อจ่าสิบเอกผาดถึงแก่ความตาย และศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ก็ไม่ดำเนินการขออายัดที่ดินไว้เป็นหลักฐานเพื่อป้องกันมิให้จำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ ว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ไม่ใช่มรดกของจ่าสิบเอกผาด นับว่าจ่าสิบเอกผาดและโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้บุคคลภายนอกไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง กึ่งหนึ่งเป็นของจ่าสิบเอกผาด พยานหลักฐานที่จำเลยร่วมนำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจกท์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยร่วมรับโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง โดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตและจดทะเบียนโดยสุจริต ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังขึ้น ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง กึ่งหนึ่งเป็นมรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของจ่าสิบเอกผาด ดังนั้นการได้ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงของทายาทโดยธรรมจึงเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอกผาดเป็นผู้แทนของทายาทโดยธรรมมีสิทธิจดทะเบียนการได้มาที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ได้ก่อน เมื่อโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาจึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยร่วมได้ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังขึ้น แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ฎีกา แต่มูลความแห่งคดีระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วมเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้มรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8159, 8160, 11674 และ 11675 ตำบลนครสวรรค์ตก (ปากน้ำโพ) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนที่เป็นของจ่าสิบเอกผาด เจ้ามรดกกึ่งหนึ่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ




ทรัพย์สิน

สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้กู้เงิน
ผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
สิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินแบ่งแยก
เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไม่ครบสิบปี ซื้อขายที่ดิน น.ส. 3ก มีเงินขอซื้อคืน
ปลูกโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริต
บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ