สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้กู้เงิน สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้กู้เงิน การที่โจทก์ฟ้องว่าสามีโจทก์นำสินสมรสออกให้จำเลยที่ 1 กู้ และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนสามีโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ในฐานะคู่สมรสฝ่ายที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้กู้เงินและการสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ได้และมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว จะนำบทบัญญัติกรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของทรัพย์สินติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนตามมาตรา 1336 และบทบัญญัติเรื่องกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1357 ถึง 1366 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3788/2552 แม้ปรากฏว่าสามีโจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้เงินในปี 2528 อันเป็นเวลาก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ 10)ฯ ใช้บังคับ และแม้โจทก์จะมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2539 ซึ่งเป็นเวลาที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 63 ให้ใช้กฎหมายก่อนการแก้ไขบังคับซึ่งการเพิกถอนการให้กู้เงินกรณีเช่นนี้ มาตรา 1480 วรรคสาม (เดิม) บัญญัติให้นำความมาตรา 240 มาใช้บังคับโอยอนุโลม อันหมายความว่า โจทก์ต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่รู้เหตุให้เพิกถอนหรือสิบปีนับแต่วันทำนิติกรรมดังกล่าว ดังนั้น ฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการกู้เงินระหว่างสามีโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำนิติกรรม ส่วนกรณีที่สามีโจทก์ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนสามีโจทก์นั้น ระยะเวลาการเพิกถอนนิติกรรมตามกฎหมายทั้งสองฉบับคงเหมือนเดิม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวอย่างช้าภายในเดือนธันวาคม 2537 ซึ่งเกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความทั้งสองกรณี มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 1356 ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น มาตรา 1480 การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.88/2543 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 1,250,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายประสาน โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2518 ตามสำเนาใบสำคัญการสมรส จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประสานซึ่งเกิดจากนางสายแก้ว ภริยาคนก่อนที่จดทะเบียนหย่าร้างกันไปแล้ว นายประสานถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2535 ตามสำเนามรณบัตร ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายประสานเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2535 ตามสำเนาคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ 15066/2535 ของศาลชั้นต้น ระหว่างที่นายประสานมีชีวิตเมื่อประมาณปี 2528 นายประสานได้ให้จำเลยที่ 1 กู้เงินจำนวน 4,500,000 บาท ตามสำเนาคำเบิกความของนายณรงค์ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2537 ในคดีหมายเลขดำที่ 9163/2536 ของศาลชั้นต้น การชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่นายประสานไว้และเมื่อเช็คถึงกำหนดก็มีการเปลี่ยนเช็คฉบับใหม่ไว้เป็นเช่นนี้หลายครั้ง ต่อมานายประสานจึงให้จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับเช็คจำนวนเงิน 2,000,000 บาท จำเลยที่ 3 ได้รับเช็คจำนวน 2,500,000 บาท วันที่ 17 เมษายน 2535 นายประสานถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 600,000 บาท จำเลยที่ 3 จำนวน 550,000 บาท ทั้งสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาบรรทัดทอง รวม 2 ฉบับ ลงวันที่ 25 กุมพาพันธ์ 2539 และวันที่ 17 มีนาคม 2539 จำนวนเงิน 400,000 บาท และ 1,000,000 บาท ตามลำดับ ให้แก่จำเลยที่ 2 กับสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาบรรทัดทอง จำนวน 3 ฉบับ ลงวันที่ 31 มีนาคม 2539 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2539 และวันที่ 15 มิถุนายน 2539 จำนวนเงิน 450,000 บาท 1,000,000 บาท และ 500,000 บาท ตามลำดับ ให้แก่จำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 25001/2540 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีถึงที่สุดแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลเยที่ 1 เพื่อบังคับคดี จำเลยที่ 1 ตกลงชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยชำระเงินสดบางส่วนพร้อมกับสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้บางส่วน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการแรกว่า ฟ้องของโจทก์ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 หรือมาตรา 1480 เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมายเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิ...กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตน...” มาตรา 1356 บัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกันท่านให้ใช้บทบัญญัติหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” จากบทบัญญัติตามมาตรา 1336 และมาตรา 1356 ที่ว่าเจ้าของทรัพย์สินจะใช้สิทธิติดตามเอาคืนได้ต้องอยู่ภายในบังคับกฎหมายและกรณีมีเจ้าของทรัพย์สินหลายคนจะใช้บทบัญญัติหมวดเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมบังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น หมายความว่า หากมีกฎหมายอื่นบัญญัติไว้หรือมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแล้วต้องบังคับตามบทกฎหมายนั้น จะนำสิทธิต่างๆ ตามมาตรา 1336 และบทบัญญัติเรื่องกรรมสิทธิ์รวม มาตรา 1357 ถึง 1366 มาใช้บังคับไม่ได้ นอกจากนี้การติดตามเอาคืนจะต้องปรากฏว่ามีกรรมสิทธิ์อยู่ในขณะที่ติดตามเอาคืน เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าเงินจำนวน 4,500,000 บาท ที่นายประสาน นำไปให้จำเลยที่ 1 กู้เป็นสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์จึงเป็นการที่กล่าวอ้างว่านายประสานจัดการสินสมรสโดยฝ่าฝืนมาตรา 1476 (เดิม) และตามฟ้องที่ระบุว่านายประสานให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ดังกล่าวแทนนายประสานจึงเป็นการกล่าวอ้างว่านายประสานจัดการสินสมรสโดยฝ่าฝืนมาตรา 1476 (เดิม) และมาตรา 1476 (5) ใหม่ ดังนี้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายประสานมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้กู้เงินและการสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 เพราะตราบใดการให้กู้เงินระหว่างนายประสานและจำเลยที่ 1 กับการให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทน นายประสานยังมิได้ถูกเพิกถอนการให้กู้เงินและการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนดังกล่าวย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมาย หากโจทก์ประสงค์ที่จะได้ทรัพย์สิน คือเงินที่ให้กู้กับสิทธิในการเป็นเจ้าหนี้กลับมาเป็นสินสมรสเช่นเดิมโจทก์ต้องดำเนินการให้ทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสของโจทก์กับนายประสานก่อน ดังนั้น ฟ้องของโจทก์จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ลักษณะ 1 การสมรส หมวด 4 ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1480 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องสิทธิติดตามเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการที่สองว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนภายในระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 หรือไม่ ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า แม้หากจะฟังข้อเท็จจริงว่า เงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากนายประสาน เป็นสินสมรส แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจกท์ว่า นายประสานให้จำเลยที่ 1 กู้เมื่อปี 2528 นิติกรรมที่เพิกถอนจึงเป็นนิติกรรมที่กระทำขึ้นก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “นิติกรรมที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้กระทำไปในการจัดการสินสมรสโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ... การขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นให้เป็นไปตามมาตรา 1480 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้” ดังนี้ แม้โจทก์เพิ่งจะมาฟ้องคดีเมื่อปี 2539 หลังพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 หรือบรรพ 5 ปัจจุบันใช้บังคับแล้ว แต่การพิจารณาเหตุเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินในคดีนี้ ยังต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 (เดิม) ซึ่งบัญญัติว่า “นอกจากจะมีสัญญาสินสมรสเป็นประการอื่น สามีภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน” และมาตรา 1480 วรรคสาม (เดิม) บัญญัติว่า “ในกรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้... ให้นำความในมาตรา 240 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” อันหมายถึง โจทก์จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่รู้เหตุให้เพิกถอน หรือสิบปีนับแต่ทำนิติกรรมดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อ 9 มกราคม 2539 จึงเกินกำหนด 10 ปี ต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้กู้ยืมเงินระหว่างนายประสานและจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1480 วรรคสาม (เดิม) ส่วนที่โจทก์อ้างว่าผู้ตายให้เงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเสน่หานั้น แม้ตามทางนำสืบของโจทก์จะไม่ปรากฏแน่ชัดว่านิติกรรมดังกล่าวกระทำขึ้นเมื่อใด กล่าวคือ นายณรงค์ กรรมการของจำเลยที่ 1 เบิกความในคดีหมายเลขดำที่ 9163/2536 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้และนางไฉไล เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยตามสำเนาคำเบิกความว่า มีการทำนิติกรรมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนนายประสานเมื่อปี 2533 แต่กลับปรากฏตามคำเบิกความของนายณรงค์ในคดีหมายเลขดำที่ 16038/2539 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกให้ชำระเงินตามเช็ค ซึ่งเป็นเงินจำนวนเดียวกับที่โจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสที่นายประสานให้จำเลยที่ 1 กู้และโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ว่า “...เมื่อประมาณปี 2528 นายประสานให้ข้าฯ สั่งจ่ายเช็คเป็นชื่อของโจทก์ที่ 1 (จำเลยที่ 2 คดีนี้) เป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท และเป็นชื่อของโจทก์ที่ 2 (จำเลยที่ 3 คดีนี้) เป็นเงินจำนวน 2,500,000 บาท โดยประมาร เมื่อปี 2533 โจทก์ทั้งสองได้มาเป็นผู้เปลี่ยนเช็คกับข้าฯ ตลอดมาโดยนายประสานไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องเลย” ดังนี้ หากนายประสานโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จริงดังที่โจทก์อ้าง เท่ากับว่าการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต้องกระทำขึ้นตั้งแต่ปี 2528 อันถือได้ว่านิติกรรมที่เป็นเหตุให้เพิกถอนนี้กระทำขึ้นก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมตามมาตรา 1480 วรรคสาม (เดิม) เช่นเดียวกับการขอเพิกถอนนิติกรรมให้กู้ยืมเงิน อย่างไรก็ตามแม้หากจะฟังว่านิติกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องทำขึ้นหลังการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 อันเป็นเหตุให้เพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ปัจจุบัน มาตรา 1476 (5) ซึ่งโจทก์ต้องใช้สิทธิฟ้องภายในระยะเวลาตามมาตรา 1480 วรรคสอง แต่ระยะเวลาในการเพิกถอนนิติกรรมก็ยังคงเท่ากับมาตรา 1480 (เดิม) กล่าวคือ มาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า “การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม...ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น” ดังนี้ เมื่อโจทก์อ้างว่าทราบเรื่องที่นายประสานโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อนายณรงค์ กรรมการจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ มาเบิกความเป็นพยานจำเลย (โจทก์คดีนี้) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2537 ในคดีหมายเลขดำที่ 9163/2546 ของศาลชั้นต้นตามสำเนาคำเบิกความของนายณรงค์ ซึ่งในคดีดังกล่าว จำเลย (โจทก์คดีนี้) ให้การต่อสู้คดีเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2536 ว่านายประสานมีเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 1 คดีนี้ ปรากฏตามสำเนาคำให้การของจำเลย (โจทก์คดีนี้) คดีหมายเลขดำที่ 9163/2536 ของศาลชั้นต้น ซึ่งหลังจากนายณรงค์เบิกความแล้วจำเลย (โจทก์คดีนี้) ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 อ้างหลักฐานเกี่ยวกับหนี้สินรวมถึงเช็คที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในคดีดังกล่าว (จำเลยที่ 2 และที่ 3 คดีนี้) รวมทั้งได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 (จำเลยที่ 2 และที่ 3 คดีนี้) ด้วย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2537 ตามคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมและคำสั่งเรียกเอกสารของจำเลย (โจทก์คดีนี้) ดังนี้แสดงว่าโจทก์ได้ทราบเรื่องที่นายประสานให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนนายประสานตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2537 หรืออย่างช้าภายในเดือนธันวาคมของปี 2537 เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2539 จึงเกินกำหนด 1 ปี ต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอน การที่นายประสานให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนนายประสานตามมาตรา 1480 วรรคสอง เช่นกัน ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาที่ว่าเงินที่นายประสานให้จำเลยที่ 1 กู้เป็นสินสมรสหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น” |