ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




การใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไม่ชอบ

การใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไม่ชอบผู้ว่าจ้างได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนใหม่

ผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาว่าจ้าง เนื่องจากเห็นว่าการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ว่าจ้างได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนใหม่ผิดไปจากเดิมหลายประการ รวมถึงการที่ต้องทุบงานที่ก่อนสร้างไปแล้ว อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นซึ่งผู้รับจ้างได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างชำระส่วนที่เพิ่มขึ้นมาแล้วแต่ผู้ว่าจ้างไม่ชำระซึ่งตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่า คู่สัญญามีเจตนาให้มีการเปลี่ยนแปลงในข้อสาระสำคัญแห่งสัญญา โดยมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป การทำงานล่าช้ากว่ากำหนดจึงมิใช่ความผิดของผู้รับจ้าง และผู้ว่าจ้าง ไม่อาจบอกเลิกสัญญาโดยอ้างเหตุว่าผู้รับจ้างทำงานล่าช้ากว่ากำหนด เว้นแต่จะได้บอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญาเสียก่อน หากผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว  จึงชอบที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาของผู้ว่าจ้าง เป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8605/2552

          จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้รับช่วงก่อสร้างอาคารคลับเฮ้าส์ โดยกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนก่อสร้างให้ผิดไปจากเดิมหลายประการ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าการก่อสร้างจะต้องล่าช้าออกไปจนไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในวันที่กำหนดอย่างแน่นอน ตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่า คู่กรณีมีเจตนาให้มีการเปลี่ยนแปลงในข้อสาระสำคัญแห่งสัญญา โดยมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป การทำงานล่าช้ากว่ากำหนดจึงมิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่อาจบอกเลิกสัญญาโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทำงานล่าช้ากว่ากำหนด เว้นแต่จะได้บอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาเสียก่อน หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 โดยไม่บอกกล่าวก่อนจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบ

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 836,894.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 816,482.88 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,995,974.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 1,847,890.42 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
          ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 816,482.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
          จำเลยที่ 1 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญากับโจทก์ชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามข้อ 8. ของสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง มีกำหนดเวลาแน่นอนให้โจทก์ต้องก่อสร้างอาคารคลับเฮ้าส์ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์และส่งมอบภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 หากมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่า โจทก์ไม่สามารถทำงานได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเวลากำหนด หรือล่วงพ้นกำหนดเวลาแล้วโจทก์ยังก่อสร้างไม่เสร็จหรือโจทก์ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ดี จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าโจทก์ไม่สามารถก่อสร้างอาคารคลับเฮ้าส์ให้เสร็จทันตามกำหนดในสัญญาได้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับโจทก์นั้น โจทก์มีนายองอาจ นายวิชญา และนางจุฑารัตน์ เบิกความได้ความว่า หลังจากทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างแล้วโจทก์ได้เริ่มลงมือก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2542 เรื่อยมาจนถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 2 ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนใหม่ผิดไปจากเดิมหลายประการ ตามแบบแปลนการก่อสร้างใหม่ ซึ่งมีทั้งการเพิ่มเหล็ก เพิ่มคอนกรีตและต้องทุบงานที่ก่อสร้างไปแล้วบางส่วนทิ้งเพื่อทำใหม่ตามแบบที่แก้ไข ทำให้โจทก์ต้องเสียเวลา เนื่องจากขณะนั้นได้ลงมือก่อสร้างไปแล้วเกือบเดือน ทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยที่ 2 ก็บอกให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไป จำเลยที่ 2 เองก็เบิกความยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบแปลนก่อสร้างใหม่จริง ซึ่งเมื่อการเปลี่ยนแปลงแบบแปลนก่อสร้างดังกล่าวทำให้ถึงกับต้องทุบบางส่วนที่ก่อสร้างไปแล้วเพื่อทำตามแบบแปลนที่แก้ไขใหม่หลังจากลงมือก่อสร้างไปแล้วเกือบเดือน ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า การก่อสร้างจะต้องล่าช้าออกไปจนไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ตามกำหนดเวลาเดิมอย่างแน่นอน ตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่า คู่กรณีมีเจตนาให้มีการเปลี่ยนแปลงในข้อสาระสำคัญแห่งสัญญา โดยมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป การทำงานล่าช้ากว่ากำหนดจึงมิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่อาจบอกเลิกสัญญาโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทำงานล่าช้ากว่ากำหนด เว้นแต่จะได้บอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาเสียก่อน หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 2 จะมีส่วนในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนทำให้โจทก์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เพิ่มเติมในส่วนนี้เสียก่อนแต่โจทก์กลับทิ้งงานไป ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย เนื่องจากต้องว่าจ้างผู้อื่นมาดำเนินการต่อและต้องเสียเงินค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 3 การทิ้งงานของโจทก์จึงเป็นไปโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งว่าโจทก์ได้เสนอราคางานที่เพิ่มเติมต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2542 และแจ้งจำเลยที่ 2 ถึงการขาดสภาพคล่องทางการเงินอันเนื่องมาจากการแก้ไขเพิ่มเติมแบบซึ่งโจทก์ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปก่อน ขอให้จำเลยที่ 2 หาทางช่วยเหลือโดยจัดสรรเงินให้เพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 เมื่อจำเลยที่ 2 รับเอกสารดังกล่าวแล้วบอกว่าจะจัดการให้ภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 แต่ในที่สุดจำเลยที่ 2 ก็ไม่ชำระ การทิ้งงานของโจทก์จึงเกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าก่อสร้างส่วนที่เพิ่มขึ้นตามแบบแปลนใหม่ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ฝ่ายเดียว ต้องรับผิดในค่าเสียหายของโจทก์ในส่วนของงานที่เพิ่มเติมและอื่น ๆ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดและชอบแล้วซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 10,000 บาท.

มาตรา 387  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้
 




นิติกรรมสัญญา

ศาลลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนได้
การตีความการแสดงเจตนา
สัญญายอมความกับคำมั่นว่าจะให้ที่ดินหลุดขายฝาก
สัญญาจะซื้อขายที่ดินผู้เยาว์ต้องขออนุญาตศาลด้วย
สัญญาเช่าซื้อผู้ให้เช่าซื้อต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เพียงใด
หนังสือมอบอำนาจ พิมพ์ลายนิ้วมือ
ข้อสัญญาว่าผู้รับจ้างไม่เรียกร้องค่าเสียหาย
ผลของการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย
ผิดสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก
มีที่ดินแต่ไม่มีเครดิตจะกู้เงินธนาคารจึงใช้ชื่อบุคคลอื่น
สิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรส-ยกที่ดินให้ภริยา
ที่ดินสาธารณะเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ห้ามซื้อขาย
สัญญาแบ่งเงินรางวัลผู้แจ้งเบาะแส
สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ
คำมั่นว่าจะไถ่ถอนจำนองหรือมอบเงินแทน
บุคคลสิทธิระหว่างคู่สัญญาใช้บังคับได้
ข้อตกลงยกที่ดินให้ต่อหน้านายอำเภอ
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ส.ป.ก. 4-01
เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดินส.ป.ก.4-01
สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก
สัญญายินยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน
สัญญาจำนองเป็นโมฆะ
สัญญาให้ทรัพย์สินหรือคำมั่นว่าจะให้
สัญญาจะซื้อจะขาย
โอนที่ดินตามใบมอบอำนาจ article