ที่ดินสาธารณะเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ห้ามซื้อขาย ที่ดินสาธารณะเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ห้ามซื้อขาย สัญญาซื้อขายที่ดินสาธารณะมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ที่ดินที่ซื้อขายบางส่วนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะจึงเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ไม่อาจซื้อขายกันได้ ทำให้สัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะ ถือว่าคู่สัญญาไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินกัน จึงไม่มีสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายที่ดินที่ผู้ขายที่ดินจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2538 ที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ที่1บางส่วนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะจึงเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ซึ่งไม่อาจซื้อขายกันได้สัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะเท่ากับว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวกับโจทก์ที่1จึงไม่มีสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวที่จำเลยจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และในฐานะส่วนตัวเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามอำนาจหน้าที่ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4342 ระวาง21 น 9ฏ เลขที่ดิน 15 หน้า สำรวจ 637 หมู่ ที่ 1 ตำบล บ้านพริก อำเภอ บ้านนา จังหวัด นครนายก เนื้อที่ประมาณ 36 ไร่ 1 งาน 31 ตารางวา ในราคาไร่ละ 1,000 บาท รวมเป็นราคาทั้งสิ้น 36,327.50 บาท จากจำเลยผู้จะขาย โดยโจทก์ที่ 2 ได้ชำระเงินค่าซื้อ ที่ดินให้จำเลยรับไปในวันทำสัญญาเป็นจำนวนร้อยละ 70 ของราคาเป็นเงิน 25,429.25 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระเมื่อทราบผลการรังวัดสอบเขตแล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 2 นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตเนื้อที่ดินดังกล่าว ปรากฏว่า ได้เนื้อที่ดินที่แท้จริง 33 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา แต่ในการรังวัดนั้น ราชพัสดุจังหวัดนครนายกคัดค้านว่ารังวัดทับซ้อนที่ดินราชพัสดุประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อใช้ในประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และอยู่ในความปกครองดูแลของราชพัสดุจังหวัดนครนายก เป็นเนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา โจทก์ที่ 2 ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินตราจสอบจากหลักฐานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่งปรากฏว่ามีการทับซ้อนกันจริงตามที่ราชพัสดุจังหวัด นครนายก คัดค้าน การโต้แย้งของราชพัสดุจังหวัด นครนายก ดังกล่าวเป็นการรบกวนขัดสิทธิครอบครองในที่ดินบางส่วนของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุขโจทก์ทั้งสองไม่สามารถครอบครองใช้ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ ทั้งสองได้ ถืได้ว่าโจทก์ทั้งสองถูกรอนสิทธิในที่ดินที่ซื้อมาจากจำเลย เฉพาะที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินราชพัสดุ จำเลยผู้ขายจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระราคาค่าที่ดินที่ซื้อมาจาก จำเลยเฉพาะส่วนที่ไม่ถูกรอนสิทธิซึ่งมีเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 23 ตารางวา เป็นเงินเพียง 6,307.50 บาทแต่ โจทก์ที่ 2 ได้ชำระเงินค่าที่ดินให้จำเลยรับไปแล้ว 25,429.25 บาท โจทก์ที่ 2 จึงชำระเกินไป 19,121.75 บาท จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวน ดังกล่าว ให้แก่โจทก์ที่ 2 และ ต้อง รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ทั้งสอง ต้องดำเนินการจัดซื้อที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ใกล้เคียงมาแทนที่ดินที่ต้องเสียไปเพราะถูกรอนสิทธิดังกล่าวนำมาดำเนินการ ปฏิรูปที่ดินในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิมถึงไร่ละ 9,000 บาท จำนวน 27 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา เป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 248,490 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยใช้เงิน จำนวน 267,611.75 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ด ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ชำระเสร็จ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2522 โจทก์ที่ 2 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดซื้อที่ดินเพื่อดำเนินการตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และเป็นผู้รับมอบอำนาจ จากโจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4342 ระวาง 21 น 9ฏ เลขที่ดิน 15 หน้าสำรวจ 637 หมู่ ที่ 1 ตำบล บ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัด นครนายก เนื้อที่ประมาณ 36 ไร่ 1 งาน 31 ตารางวา จากจำเลยในราคาไร่ละ 1,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเอกสารหมาย จ. 4 ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2522 โจทก์ที่ 2 ได้ ทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับจำเลยในนามของโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยได้รับชำระราคาที่ดินเป็นเงิน 25,429.25 บาท ต่อมาเมื่อมีการรังวัดสอบเขตที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ ที่ 1 ดังกล่าว ปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ที่ 1 บางส่วนเนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้ใช้เพื่อ ประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และอยู่ในความปกครองดูแลของราชพัสดุ จังหวัด นครนายก คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าจำเลยผิดสัญญาต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพราะโจทก์ถูกรอนสิทธิเนื่องจากที่ดินบางส่วนที่โอนขายให้แก่โจทก์เนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน44 ตารางวา เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและอยู่ในความปกครองดูแลของราชพัสดุจังหวัดนครนายกทำให้โจทก์ไม่สามารถครอบครองใช้ที่ดินได้หรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ที่ 1 บางส่วนเนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่สงวนไว้ ใช้ เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ซึ่งไม่อาจซื้อขายกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 143 (มาตรา 106 เดิม ) ประกอบด้วย มาตรา 1305 สัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวที่จำเลยทำกับโจทก์ที่ 1 จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150(มาตรา 113 เดิม ) และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นโมฆะเช่นนี้แล้วก็เท่ากับว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญาซื้อขายที่ดินส่วน ดังกล่าวกับโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใดจึงไม่มีสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว ระหว่างจำเลยและโจทก์ที่ 1 จำเลยจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิตามฟ้องก็ต่อเมื่อจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายที่ดิน ส่วนดังกล่าวกับ โจทก์ที่ 1 เมื่อถือว่าจำเลย ไม่เคยทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ
ตามฟ้องแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น " พิพากษายืน มาตรา 143 ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้ และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ มาตรา 475 หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา |