สัญญาจะซื้อขายที่ดินผู้เยาว์ต้องขออนุญาตศาลด้วย สัญญาจะซื้อขายที่ดินผู้เยาว์ต้องขออนุญาตศาลด้วย นิติกรรมที่อันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์เช่นสัญญาจะซื้อขายผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต หากฝ่าฝืนแล้วนิติกรรมนั้นไม่เป็นโมฆียะที่ผู้เยาว์สามารถให้สัตยาบันได้เมื่อผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะแล้ว กรณีดังกล่าวทำให้นิติกรรมที่ทำขึ้นนั้นไม่ผูกพันผู้เยาว์ สัญญาจะซื้อขายที่ดินที่ผู้เยาว์และผู้แทนโดยชอบธรรมได้ทำขึ้นนั้นเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายผู้เยาว์ไม่อาจให้สัตยาบันได้แม้จะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม เพราะเท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย-สัญญาจะซื้อจะขายที่ผู้เยาว์ได้กระทำในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ จึงไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์ และกรณีมิใช่โมฆียะกรรม แม้ภายหลังผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ ผู้เยาว์เองหรือผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมขายที่ดินซึ่งหมายความรวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาล ซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 และกรณีมิใช่โมฆียะกรรมแม้ภายหลังจำเลยที่ 3 จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสจำเลยที่ 3ก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ แม้สัญญาจะซื้อจะขายไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 3 ไม่จำต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ตามสัญญา ทนายโจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ทนายโจทก์ได้ย้ายสำนักงานจากที่เดิมไปอยู่สำนักงานแห่งใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้วแต่ปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นออกหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ออกหมายนัดส่งให้ทนายโจทก์โดยการปิดหมาย ณ สำนักงานทนายโจทก์แห่งเดิม หาได้ส่งหมายนัดให้ทนายโจทก์ ณ สำนักงานแห่งใหม่ดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไว้ไม่ ทั้งมิได้ส่งหมายนัดให้แก่ตัวโจทก์ด้วยโจทก์จึงไม่ทราบวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงถือไม่ได้ว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟังแล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์ยื่นฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่โจทก์ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงชอบแล้ว โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3172, 3173 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายกจำนวน 50 ไร่ ให้โจทก์เป็นเงิน 1,450,000 บาท ในวันทำสัญญาจำเลยทั้งสามได้รับเงินมัดจำจากโจทก์จำนวน 500,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะชำระให้จำเลยทั้งสามในวันโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ภายในกำหนดตามสัญญา แม้ด้วยเหตุสุดวิสัยใด ๆ ก็ตาม จำเลยทั้งสามยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาที่ดินที่ซื้อขาย พร้อมกับคืนเงินที่รับไว้จากโจทก์ทั้งหมดด้วยต่อมาครั้งถึงวันนัดโจทก์และจำเลยทั้งสามไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งที่โจทก์เตรียมพร้อมจะรับโอนและมิได้ผิดสัญญา ทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3172, 3173 แก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสามรับเงินส่วนที่เหลือจำนวน 950,000 บาท จากโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่สมบูรณ์ไม่อาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามไม่ได้ กล่าวคือในวันทำสัญญา จำเลยที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ส่วนจำเลยที่ 1 มีอาการวิกลจริต โดยที่โจทก์ก็ทราบดีอยู่แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยทั้งสามทำกับโจทก์จึงเป็นโมฆียะทั้งฉบับ จำเลยทั้งสามขอบอกล้างนับแต่บัดนี้ สัญญาจึงเป็นโมฆะแต่เริ่มแรก ให้โจทก์และจำเลยทั้งสามกลับคืนสู่ฐานะเดิมโจทก์จะฟ้องบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายหาได้ไม่ เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2531 จำเลยทั้งสามพบกับโจทก์ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายกโดยมิได้นัดหมายกัน จำเลยทั้งสามจึงได้แจ้งแก่โจทก์ว่า ขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ได้ทำไว้ต่อกัน และนัดโจทก์มารับเงินที่ได้วางมัดจำไว้จำนวน 500,000 บาทคืนไป โจทก์ทราบแล้วเพิกเฉย และไม่ยอมรับเงินดังกล่าวจำเลยทั้งสามจึงไม่จำต้องไปพบโจทก์ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาในวันที่ 13 ตุลาคม 2531 อีก เพราะบอกเลิกสัญญาไปแล้ว ที่โจทก์ให้เจ้าพนักงานที่ดินทำบันทึกไว้ทั้ง ๆ ที่ทราบว่าจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแล้ว เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3172 และ 3173 ให้แก่โจทก์โดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามโดยโจทก์จะต้องชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 950,000 บาท แก่จำเลยทั้งสาม ส่วนคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยออกค่าภาษีเงินได้ในการโอนนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยต้องชำระตามกฎหมายอยู่แล้ว จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฟ้องโจทก์ส่วนที่ให้จำเลยที่ 3โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3172 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์จังหวัดนครนายก ให้ยก โดยให้คิดลดราคาซื้อขายลงตามส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 3 ในโฉนดที่ดิน แต่หากมิได้กำหนดส่วนไว้ในโฉนดที่ดินก็ให้ถือเกณฑ์ครึ่งหนึ่งนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้เยาว์ แต่ต่อมาหลังจากที่จำเลยที่ 3 บรรลุนิติภาวะโดยการสมรสแล้ว จำเลยที่ 3ได้ให้สัตยาบันต่อโจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามเอกสารหมายจ.2 จึงสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายจำเลยที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ในสัญญาฉบับเดียวกันจึงมีปัญหาว่าสัญญาจะซื้อจะขายมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 หรือไม่เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 ซึ่งเป็นหลักทั่วไปบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน หากทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมแล้วเป็นโมฆียะและตามมาตรา 24 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 หมวด 2 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร มาตรา 1574 บัญญัติเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งผู้เยาว์เองหรือใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการบางอย่างที่สำคัญของผู้เยาว์ เมื่อศาลได้ไต่สวนแล้วเห็นเป็นการสมควรก็สั่งอนุญาต แล้วผู้แทนโดยชอบธรรมจึงจะอาศัยคำอนุญาตของศาลไปทำนิติกรรมได้ ในเมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมขายที่ดินซึ่งหมายความรวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.2 ที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 และกรณีมิใช่โมฆียะกรรม แม้ภายหลังจำเลยที่ 3 จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสจำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ ปัญหาที่ว่าผู้เยาว์ทำนิติกรรมจะขายอสังหาริมทรัพย์พร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์นั้นเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้เยาว์และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างแต่ต้น แต่เมื่อศาลเห็นสมควรก็ยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า หนี้ที่จำเลยทั้งสามมีต่อโจทก์เป็นมูลหนี้ที่มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อการทำนิติกรรมของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีผลโจทก์จึงไม่สามารถบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 นั้นได้วินิจฉัยแล้วว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์ ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยที่ 2 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3712 และได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ในสัญญาฉบับเดียวกันก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็หาได้เป็นลูกหนี้ร่วมกันไม่ ดังนั้น แม้สัญญาจะซื้อจะขายไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 3 ไม่จำต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ตามสัญญา ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่จำเลยทั้งสามแถลงคัดค้านว่า โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด การยื่นฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบนั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2533 ทนายโจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าทนายโจทก์ได้ย้ายสำนักงานจากที่เดิมไปอยู่สำนักงานแห่งใหม่การส่งหมายถึงทนายโจทก์ขอให้ส่ง ณ สำนักงานแห่งใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว แต่ปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นออกหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้ออกหมายนัดส่งให้ทนายโจทก์โดยการปิดหมายณ สำนักงานทนายโจทก์แห่งเดิม หาได้ส่งหมายนัดให้ทนายโจทก์ณ สำนักงานแห่งใหม่ดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไว้ไม่ ทั้งมิได้ส่งหมายนัดให้แก่ตัวโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่ทราบวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงถือไม่ได้ว่า ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟังแล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์ยื่นฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่โจทก์ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงชอบแล้ว ข้อคัดค้านของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน มาตรา 24 ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย มาตรา 1574 นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ป.วิ.พ. มาตรา 76, 79, 140, ในกรณีเช่นว่ามานี้ การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่คู่ความฝ่ายใด ห้ามมิให้ส่งแก่คู่ความฝ่ายปรปักษ์เป็นผู้รับไว้แทน มาตรา 79 ถ้าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นไม่สามารถจะทำได้ ดั่งที่บัญญัติไว้ใน มาตราก่อนศาลอาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือปิดคำคู่ความหรือเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของคู่ความหรือบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในคำคู่ความ หรือเอกสารหรือมอบหมายคำคู่ความหรือเอกสารไว้แก่เจ้าพนักงาน ฝ่ายปกครองในท้องถิ่น หรือเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วปิดประกาศ แสดงการที่ได้มอบหมายดั่งกล่าวแล้วนั้นไว้ดั่งกล่าวมาข้างต้น หรือลงโฆษณาหรือทำวิธีอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควร การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีอื่นแทนนั้น ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อ กำหนดเวลาสิบห้าวัน หรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดได้ล่วงพ้นไปแล้วนับตั้งแต่เวลาที่คำคู่ความหรือเอกสารหรือ ประกาศแสดงการมอบหมายนั้นได้ปิดไว้ หรือการโฆษณาหรือวิธี อื่นใดตามที่ศาลสั่งนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว มาตรา 140 การทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ดำเนินตามข้อบังคับต่อไปนี้ ในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หรือประธานศาลฎีกาแล้วแต่กรณี เห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหา ใดในคดีเรื่องใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ หรือถ้ามีกฎหมายกำหนด ให้วินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีเรื่องใดโดยที่ประชุมใหญ่ ก็ให้วินิจฉัยโดย ที่ประชุมใหญ่ ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 13 ที่ประชุมใหญ่นั้น สำหรับศาลอุทธรณ์ให้ประกอบด้วยอย่างน้อยผู้พิพากษาหัวหน้าคณะไม่น้อยกว่า 10 คน สำหรับศาลฎีกาให้ประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกคนซึ่งอยู่ ปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนผู้พิพากษาแห่งศาลนั้น และให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือประธานศาลฎีกาแล้วแต่กรณี หรือผู้ทำการแทน เป็นประธาน คำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก และถ้า มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานแห่งที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีก เสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ในคดีซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยปัญหาแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่ง ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่และต้องระบุไว้ด้วยว่า ปัญหาข้อใดได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ผู้พิพากษาที่เข้าประชุม แม้มิใช่เป็นผู้นั่งพิจารณา ก็ให้มีอำนาจพิพากษาหรือทำคำสั่งในคดี นั้นได้ และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ให้ทำความเห็นแย้งได้ด้วย ถ้าคู่ความไม่มาศาล ศาลจะงดการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลจดแจ้งไว้ในรายงานและให้ถือว่าคำพิพากษา หรือคำสั่งนั้นได้อ่านตามกฎหมายแล้ว เมื่อศาลที่พิพากษาคดี หรือที่ได้รับคำสั่งจากศาลสูงให้อ่าน คำพิพากษาหรือคำสั่ง ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งตามบทบัญญัติ ใน มาตรานี้ วันใดให้ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่พิพากษาหรือมีคำสั่งคดีนั้น |