

ศาลลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนได้ หากเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนได้ ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงจะชำระเบี้ยปรับให้แก่กันเมื่อฝ่ายใดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร อีกฝ่ายหนึ่งเรียกเอาเบี้ยปรับได้ แต่หากเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลมิได้ชำระค่าใช้น้ำบาดาลภายในกำหนด ผู้ขออนุญาตมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายกระทรวงซึ่งไม่มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่ศาลมีอำนาจปรับลดได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4208/2552 เบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นเบี้ยปรับอันเกิดจากการที่คู่สัญญาทำสัญญาไว้ต่อกันว่าลูกหนี้จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 379 ถึงมาตรา 381 แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตใช้น้ำบาดาลจากโจทก์ต้องรับผิดชำระค่าใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นเพราะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 และฉบับที่ 7 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลจึงไม่อาจปรับลดได้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 457,987.11 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 339,825 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน จำนวน 209,212.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 23,625 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ของต้นเงิน 23,887.50 บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2540 ของต้นเงิน 24,150 บาท นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2540 ของต้นเงิน 24,150 บาท นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 23,625 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 และของต้นเงิน 23,887.50 บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 215,190 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 24,300 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ของต้นเงิน 24,570 บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2540 ของต้นเงิน 24,840 บาท นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2540 ของต้นเงิน 24,840 บาท นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 24,300 บาท นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2541 (ที่ถูก 1 พฤษภาคม 2541) และของต้นเงิน 24,570 บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลมิได้ชำระค่าใช้น้ำบาดาลภายในกำหนดเวลาสำหรับงวดใด และมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลสำหรับงวดนั้นในอัตราลูกบาศก์เมตรละ 5 บาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาลพ.ศ. 2520 และในอัตราสองเท่าของอัตราค่าใช้น้ำบาดาลลูกบาศก์เมตรละ 3.50 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ถือเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 หรือไม่ เห็นว่า เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นเบี้ยปรับอันเกิดจากการที่คู่สัญญาที่เป็นเจ้าหนี้ทำสัญญาไว้ต่อกันว่าลูกหนี้จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 379 ถึงมาตรา 381 แต่คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับอนุญาตใช้น้ำบาดาลจากโจทก์ต้องรับผิดชำระค่าใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นเพราะฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 และฉบับที่ 7 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลจึงไม่อาจปรับลดได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ข้อกำหนดในกฎกระทรวงทั้งสองฉบับดังกล่าวถือเป็นข้อบังคับในการทำสัญญาขออนุญาตใช้น้ำบาดาลและอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลซึ่งผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตาม ถือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ซึ่งถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ติดเครื่องวัดปริมาณน้ำ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล คือวันละ 100 บาท ในอัตราลูกบาศก์เมตรละ 3.50 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลเพิ่มสำหรับงวดที่ผิดนัดในอัตราลูกบาศก์เมตรละ 5 บาท และ 7 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2537) และฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2540) แล้วแต่กรณี และจำเลยที่ 1 ใช้น้ำบาดาลที่มีบ่อน้ำบาดาลอยู่ในท้องที่ที่ไม่มีน้ำประปาใช้ และไม่ได้รับยกเว้นค่าใช้น้ำบาดาล จึงได้รับลดหย่อนค่าใช้น้ำบาดาลตามกฎกระทรวงดังกล่าวเหลือเพียงร้อยละ 75 ของปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล การคิดคำนวณค่าใช้น้ำบาดาลของโจทก์ ตามบัญชีรายละเอียดค่าใช้น้ำบาดาลที่ค้างชำระเอกสารหมาย จ.9 คิดเป็นเงินรวม 339,825 บาทนั้น ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของกฎกระทรวงดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระค่าใช้น้ำบาดาล 339,825 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 1/2540 ถึง 2/2541นับแต่วันผิดนัดในแต่ละงวดแก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 339,825 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 33.750 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ของต้นเงิน 34,125 บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2540 ของต้นเงิน 34,500 บาท นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2540 ของต้นเงิน 48,300 บาท นับแต่ วันที่ 31 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 47,250 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 และของต้นเงิน 47,775 บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมา 6,588.25 บาท ให้แก่โจทก์ |