ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




สิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรส-ยกที่ดินให้ภริยา

สิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรส-ยกที่ดินให้ภริยา

สามียกที่ดินให้ภริยาต่อมาภริยายกที่ดินให้บุคคลภายนอก สามีไม่พอใจจึงบอกเลิกสัญญาระหว่างสมรส กรณีดังกล่าว บุคคลภายนอกที่รับโอนที่ดินจากภริยายังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่รับโอนมาหรือไม่ สามีอ้างว่า ได้ให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่เพิกถอนการให้ความยินยอมโดยเด็ดขาและตลอดไปนั้นตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี และฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เมื่อสามีได้บอกล้างแล้วกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงกลับมาเป็นของสามีเช่นเดิม ศาลเห็นว่า ภริยาโอนทรัพย์สินให้บุคคลภายนอกในขณะที่ภริยายังมีสิทธิตามข้อตกลงและสามียังไม่ได้บอกล้าง เมื่อข้ออ้างของสามีฟังไม่ได้ว่าบุคคลภายนอกรับโอนไปโดยไม่สุจริต บุคคลภายนอกจึงได้กรรมสิทธิ์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2552

          แม้ข้อความที่ ธ. ให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่เพิกถอนการให้ความยินยอมแก่ น. ในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทจะตกเป็นโมฆะ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1469 ที่ให้สิทธิสามีหรือภริยาสามารถบอกล้างสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาได้ในระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า น. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วตั้งแต่ขณะ น. ยังมีสิทธิตามข้อตกลงในการแบ่งสินทรัพย์ เนื่องจากยังมิได้ถูกบอกล้าง ผลของการบอกล้างดังกล่าวจึงไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทไปโดยไม่สุจริต ตามความตอนท้ายของ ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทไปโดยสุจริต โจทก์จึงยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่

มาตรา 1469  สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและอาคารคลังเก็บสินค้าของโจทก์และห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินและอาคารคลังเก็บสินค้าของโจทก์อีกต่อไป กับให้จำเลยและบริวารร่วมกันชำระเงินค่าใช้สอยที่ดินและอาคารคลังเก็บสินค้าในอัตราเดือนละ 131,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและอาคารคลังเก็บสินค้าของโจทก์

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 114030 ถึง 114037 ตำบลดอกไม้ (บางแก้ว) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และอาคารคลังเก็บสินค้าเลขที่ 4/653 หมู่ 8 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยชำระเงินในอัตราเดือนละ 15,000 บาท แก่โจทก์นับถัดจากเดือนที่ฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545) เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารคลังเก็บสินค้าของโจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

          โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากเดือนที่ฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545) จนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารคลังเก็บสินค้าของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เป็นเงิน 3,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 1,500 บาท

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่านายธงชัย เป็นสามีของนางนิตยา มีบุตรด้วยกัน 8 คน รวมทั้งโจทก์ นายธงชัยและนางนิตยาประกอบอาชีพค้าขายเหล็กใช้ชื่อร้านว่าร้านซงไท โดยบุตรทั้ง 8 คน รวมทั้งโจทก์ต่างมีหน้าที่ช่วยเหลือกิจการของร้านค้าเหล็กดังกล่าวตลอดมา จนกระทั่งปี 2530 มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้น ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2541 นายธงชัยและนางนิตยาได้ทำหนังสือข้อตกลงในการแบ่งสินทรัพย์ซึ่งเป็นสินสมรสกัน ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีข้อตกลงว่าที่ดินตามข้อ 4 ถึงข้อ 7 ได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 114030 ถึง 114037 ที่พิพาทนายธงชัยยกให้แก่นางนิตยาเป็นสินส่วนตัวไม่ขอเกี่ยวข้องอีกต่อไป และต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 นายธงชัยได้ทำหนังสือยินยอมให้นางนิตยาทำนิติกรรมใดๆ ในที่ดินพิพาทได้ตามความประสงค์ และให้ความยินยอมล่วงหน้าไว้ด้วยว่า นายธงชัยจะไม่ขอยกเลิกเพิกถอนการให้ความยินยอมตามหนังสือยินยอมโดยเด็ดขาดและตลอดไป หลังจากนั้นนางนิตยาได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยจดทะเบียนโอนให้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542 และต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2544 นายธงชัยได้บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวไปยังนางนิตยา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าหลังจากนายธงชัยบอกเลิกสัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวแล้วโจทก์ยังมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอยู่หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ข้อความที่นายธงชัยให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่เพิกถอนการให้ความยินยอมโดยเด็ดขาดและตลอดไปเป็นข้อความที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี และฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ นายธงชัยจึงยังมีสิทธิบอกเลิกเพิกถอนการให้ความยินยอมและบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสได้และเมื่อนายธงชัยได้บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสไปยังนางนิตยาแล้วกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมกลับเป็นสินสมรสของนายธงชัยและนางนิตยาดังเดิมนั้น เห็นว่า แม้ข้อความที่นายธงชัยให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่เพิกถอนการให้ความยินยอมแก่นางนิตยาในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทจะตกเป็นโมฆะ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ที่ให้สิทธิสามีหรือภริยาสามารถบอกล้างสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาได้ในระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นางนิตยาได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วตั้งแต่ขณะนางนิตยายังมีสิทธิตามข้อตกลงในการแบ่งสินทรัพย์เนื่องจากยังมิได้ถูกบอกล้าง ผลของการบอกล้างดังกล่าวจึงไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทไปโดยไม่สุจริตตามความตอนท้ายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ที่จำเลยอ้างมาในฎีกาทำนองว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทไปโดยไม่สุจริตเนื่องจากโจทก์ได้วางแผนให้นายธงชัยแบ่งทรัพย์สินให้นางนิตยาแล้วให้นางนิตยายกที่ดินพิพาทให้โจทก์อีกทอดหนึ่งนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของนางนิตยาว่า เหตุที่นางนิตยายกที่ดินพิพาทให้โจทก์เพียงผู้เดียวก็เพราะนายธงชัยแบ่งเอาทรัพย์สินไปเกือบหมดข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวจึงไม่พอที่จะรับฟังว่า โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทไปโดยไม่สุจริต โจทก์จึงยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่ ข้ออ้างอื่นของจำเลยนอกจากนี้เป็นความเห็นส่วนตัวและไม่เป็นสาระแก่คดีจึงไม่วินิจฉัยให้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เหมาะสมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ดูเพียงจากเอกสารซึ่งมิได้บ่งบอกหรือแสดงความเสียหายของโจทก์แล้วกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ถึงเดือนละ 40,000 บาท จึงสูงเกินไปนั้น เห็นว่า แม้โจทก์มีเพียงภาพถ่ายประกอบคำเบิกความ แต่ภาพดังกล่าวก็แสดงถึงตัวอาคารที่ใช้เป็นที่เก็บสินค้าที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์เบิกความว่า เนื้อที่ถึง 810 ตารางเมตร และลานจอดรถซึ่งมีเนื้อที่ถึง 1 ไร่เศษ นอกจากนี้ยังได้ความว่าที่พิพาทอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ใกล้ความเจริญและมีความสะดวกในการประกอบธุรกิจอีกด้วย การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เดือนละ 40,000 บาท จากที่โจทก์เรียกร้องเอาถึงเดือนละ 131,000 บาท จึงนับว่าเหมาะสม ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 




นิติกรรมสัญญา

ศาลลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนได้
การใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไม่ชอบ
การตีความการแสดงเจตนา
สัญญายอมความกับคำมั่นว่าจะให้ที่ดินหลุดขายฝาก
สัญญาจะซื้อขายที่ดินผู้เยาว์ต้องขออนุญาตศาลด้วย
สัญญาเช่าซื้อผู้ให้เช่าซื้อต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เพียงใด
หนังสือมอบอำนาจ พิมพ์ลายนิ้วมือ
ข้อสัญญาว่าผู้รับจ้างไม่เรียกร้องค่าเสียหาย
ผลของการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย
ผิดสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก
มีที่ดินแต่ไม่มีเครดิตจะกู้เงินธนาคารจึงใช้ชื่อบุคคลอื่น
ที่ดินสาธารณะเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ห้ามซื้อขาย
สัญญาแบ่งเงินรางวัลผู้แจ้งเบาะแส
สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ
คำมั่นว่าจะไถ่ถอนจำนองหรือมอบเงินแทน
บุคคลสิทธิระหว่างคู่สัญญาใช้บังคับได้
ข้อตกลงยกที่ดินให้ต่อหน้านายอำเภอ
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ส.ป.ก. 4-01
เข้าทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดินส.ป.ก.4-01
สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก
สัญญายินยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน
สัญญาจำนองเป็นโมฆะ
สัญญาให้ทรัพย์สินหรือคำมั่นว่าจะให้
สัญญาจะซื้อจะขาย
โอนที่ดินตามใบมอบอำนาจ article