ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




การประชุมวิสามัญซึ่งเรียกโดยกรรมการเพียงคนเดียว

สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน

การกู้ยืมเงินกันโดยผู้กู้ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้ให้ผู้ให้กู้และสัญญาขายฝากกำหนดสินไถ่ไว้สูงเกินกว่าต้นเงินกู้ที่ได้รับจริงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาขายฝากไม่สามารถบังคับได้ แต่ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง ให้ถือว่าสัญญาขายฝากเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ศาลชอบที่จะเพิกถอนการขายฝากโดยผู้ให้กู้ยังคงยึดถือโฉนดที่ดินจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยครบถ้วน
     
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4686/2552

เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินจึงเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยจะขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระเงินตามราคาขายฝากที่ดินเป็นต้น เงินกู้ไม่ได้ แต่ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยถือเพียงว่าสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากจำเลย และโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินของตนให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้เท่านั้น สำหรับการขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยเมื่อตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยแล้ว ศาลชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสียได้โดยจำเลยยังคงยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองไว้ได้จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเงินกู้และดอกเบี้ยแก่จำเลยครบถ้วน

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า สัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ให้จำเลยรับชำระหนี้เงินกู้ต้นเงินจำนวน 1,200,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเวลา 8 เดือน รวมเป็นเงินจำนวน 1,260,000 บาท จากโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินดังกล่าว และมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝาก ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับชำระหนี้จากโจทก์ทั้งสองเป็นเงินจำนวน 1,065,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2540 จนถึงวันที่ 25 กันยายน 2541 และให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 25867 และ 22233 ตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยก (ที่ถูก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก)

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 25867 และ 22233 ตำบลหาดทรายแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับไว้แก่จำเลย ตามสัญญาขายฝากที่ดิน เพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งโจทก์ทั้งสองกู้ยืมจากจำเลย

          จำเลยฎีกาข้อแรกว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยกู้ยืมเงินกันโดยถือเอาสัญญาขายฝากที่ดิน เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม จึงต้องถือเอาจำนวนเงินตามสัญญาขายฝากที่ดินซึ่งระบุจำนวนเงินที่ตกลงขายฝากกันแปลงละ 900,000 บาท เป็นต้นเงินกู้ที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระให้แก่จำเลยนั้น เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยสัญญาขายฝากที่ดินจึงเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยจะขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระเงินตามราคาขายฝากที่ดินแปลงละ 900,000 บาท เป็นต้นเงินกู้ไม่ได้ แต่ต้องบังคับตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง โดยถือเพียงว่าสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากจำเลย และโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินของตนให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้เท่านั้น สำหรับการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้น ศาลล่างทั้งสองรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองกู้เงินจำเลยเพียง 1,065,000 บาท เท่าที่จำเลยส่งมอบให้ตามบันทึกของสามีจำเลย จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า บันทึกของสามีจำเลยไม่ถูกต้องอย่างไร คงฎีกาขอให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินเพิ่มอีก 735,000 บาท เพื่อให้ครบยอดเงิน 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นราคาขายฝากที่ดินทั้งสองแปลงในสัญญาขายฝากที่ดิน เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าสัญญาขายฝากที่ดินดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพราง ราคาขายฝากตามสัญญาขายฝากที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่จำนวนเงินที่ศาลจะบังคับให้โจทก์ทั้งสองชำระแก่จำเลยได้ โจทก์ทั้งสองคงต้องรับผิดชำระเงินเท่าที่กู้ยืมจากจำเลย 1,065,000 บาท เท่านั้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับการขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยเมื่อตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยแล้วก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสีย

          ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายในปัญหาเรื่องดอกเบี้ยว่า จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยที่ศาลล่างทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยเพียงถึงวันที่ 25 กันยายน 2541 นั้นในปัญหาดังกล่าวศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2541 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองขอปฏิบัติการชำระหนี้ โจทก์ทั้งสองได้เตรียมตั๋วแลกเงินพร้อมชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยครบถ้วนตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินแต่จำเลยไม่ยอมรับชำระหนี้ในวันที่โจทก์ทั้งสองกำหนด โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ทั้งสองจึงต้องชำระดอกเบี้ยจนถึงวันที่จำเลยผิดนัดเท่านั้น

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับชำระหนี้จากโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,065,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2541 และให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 25867 และ 22233 ตำบลหาดแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2541 แต่ยังคงให้จำเลยยึดโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวแก่จำเลยครบถ้วน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

การประชุมวิสามัญซึ่งเรียกโดยกรรมการเพียงคนเดียว

การเรียกประชุมวิสามัญนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะเรียกประชุม มิใช่กรรมการคนใดคนหนึ่งแต่เพียงคนเดียว แม้ว่าผู้ถือหุ้นรวมกันทำหนังสือขอให้เรียกประชุมวิสามัญ ก็จะต้องทำหนังสือถึงคณะกรรมการ แล้วคณะกรรมการเป็นผู้เรียกประชุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  452/2518

          ข้อบังคับของบริษัทจำเลยมีว่า 'การประชุมวิสามัญจะเรียกประชุมเมื่อใดก็ได้ในเมื่อคณะกรรมการบริษัทเห็นสมควรหรือผู้ถือหุ้นรวมกันนับจำนวนหุ้นได้ถึงหนึ่งในห้าของหุ้นทั้งหมดทำหนังสือขอให้เรียกประชุมวิสามัญ' ตามข้อบังคับข้อนี้กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะเรียกประชุม มิใช่กรรมการคนใดคนหนึ่งแต่เพียงคนเดียว แม้ว่าผู้ถือหุ้นรวมกันทำหนังสือขอให้เรียกประชุมวิสามัญ ก็จะต้องทำหนังสือถึงคณะกรรมการ แล้วคณะกรรมการเป็นผู้เรียกประชุม

           ปรากฏว่า ม. กรรมการเพียงคนเดียวเป็นผู้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 โดยไม่ได้เสนอคำร้องขอของผู้ถือหุ้นต่อคณะกรรมการบริหารของบริษัทจำเลยตามข้อบังคับในวันประชุม ส. ประธานกรรมการบริษัทจำเลยได้สั่งระงับการประชุม ม. ยอมรับคำสั่งแต่โดยดี แต่แล้วกลับละเมิดคำสั่งได้ดำเนินการประชุมต่อไป ที่ประชุมแต่งตั้ง ท. เป็นประธานของที่ประชุมโดยที่ ท. มิได้มีคุณสมบัติตามข้อบังคับที่จะเป็นได้การประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามมติของที่ประชุมครั้งนั้นจึงเป็นคณะกรรมการที่ไม่ชอบไม่มีอำนาจบริหารและไม่มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513 มติต่างๆ ของที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2513จึงไม่มีผล

           ที่คำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่า การประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513 และมติต่างๆ ที่ลงไว้ไม่มีผลใช้บังคับ และคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ขอให้ศาลพิพากษาว่า โดยผลของการประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 ตกเป็นโมฆะตามกฎหมายและข้อบังคับแล้ว การใดหรือมติใดที่กระทำไปโดยคณะกรรมการของบริษัทจำเลยดังกล่าวในข้อ 1 จึงตกเป็นโมฆะนั้น คำขอท้ายฟ้องข้อ 2 เป็นการเท้าความถึงเท่านั้นหาได้มุ่งหมายจะให้ศาลพิพากษาว่าการประชุมใหญ่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513. และมติเป็นโมฆะไม่ ทั้งคำบรรยายฟ้องก็มิได้บรรยายในทำนองนั้น แท้ที่จริงประสงค์จะให้พิพากษาว่า การใดหรือมติใดที่กระทำไปโดยคณะกรรมการของบริษัทจำเลยดังกล่าวในข้อ 1 ของคำขอท้ายฟ้อง คือการประชุมและมติในวันที่ 11 ตุลาคม 2513 ตกเป็นโมฆะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ก็เป็นการเพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 อีก

          โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า การประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยครั้งที่2/2513 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513 และมติต่าง ๆ ของ ที่ประชุมใหญ่นั้นใช้บังคับไม่ได้ การใดหรือมติใดที่กระทำไปโดยคณะกรรมการของบริษัทจำเลยตกเป็นโมฆะ

          จำเลยให้การว่า การประชุมครั้งที่ 2/2513 ถูกต้องตามกฎหมาย มติของที่ประชุมในวันนั้นมีผลสมบูรณ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ในครั้งนี้
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้การประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513 และมติต่าง ๆ ที่ลงไว้ในการประชุมใหญ่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 ไม่มีผลใช้บังคับได้เช่นเดียวกัน

          จำเลยฎีกา
          ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีการประชุมใหญ่ 3 ครั้ง คือการประชุมในวันที่ 22กุมภาพันธ์ 2513 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2513 และวันที่ 11 ตุลาคม 2513การประชุมใหญ่ที่เป็นปัญหาจะต้องวินิจฉัยในคดีนี้คือการประชุมในวันที่22 กุมภาพันธ์ 2513 และวันที่ 11 ตุลาคม 2513 ว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่

          ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อบังคับของบริษัทจำเลย ข้อ 20 มีว่า "การประชุมวิสามัญจะเรียกประชุมเมื่อใดก็ได้ ในเมื่อคณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร หรือผู้ถือหุ้นรวมกันนับจำนวนหุ้นได้ถึงหนึ่งในห้าของหุ้นทั้งหมด ทำหนังสือขอให้เรียกประชุมวิสามัญ"ตามข้อบังคับข้อนี้กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะเรียกประชุม มิใช่กรรมการคนใดคนหนึ่งแต่เพียงคนเดียว แม้ว่าผู้ถือหุ้นรวมกันทำหนังสือขอให้เรียกประชุมวิสามัญก็จะต้องทำหนังสือถึงคณะกรรมการแล้วคณะกรรมการเป็นผู้เรียกประชุม คดีนี้ปรากฏว่าพันตำรวจตรีมงคลกรรมการเพียงคนเดียวเป็นผู้เรียกประชุมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า พันตำรวจตรีมงคลกรรมการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้เสนอคำร้องขอของผู้ถือหุ้นต่อคณะกรรมการบริหารของบริษัทจำเลยตามข้อบังคับ ข้อ 20 ในวันประชุมนาวาอากาศเอกสำราญประธานกรรมการบริษัทจำเลยได้สั่งระงับการประชุมพันตำรวจตรีมงคลยอมรับคำสั่งแต่โดยดี แต่แล้วกลับละเมิดคำสั่งได้ดำเนินการประชุมต่อไปที่ประชุมแต่งตั้งนายทองคำ  เป็นประธานของที่ประชุม โดยที่นายทองคำมิได้มีคุณสมบัติที่จะเป็นได้ เพราะนายทองคำไม่ได้เป็นกรรมการของบริษัทตามข้อบังคับ ข้อ 23 จำเลยให้การแต่เพียงว่าการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 ดำเนินไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ฟังไม่ได้ว่ามีผู้ถือหุ้นจำนวนถึง 1 ใน 5 ของหุ้นทั้งหมด รวมกันทำหนังสือขอให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามมติของที่ประชุมครั้งนั้นจึงเป็นคณะกรรมการที่ไม่ชอบ ไม่มีอำนาจบริหารและอำนาจเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513 เมื่อพิเคราะห์ถึงความมุ่งหมายของผู้ถือหุ้นที่ขอให้เรียกประชุมใหญ่ดังปรากฏในเอกสารหมาย ล.2 ว่า คณะกรรมการชุดที่นายทองคำเป็นกรรมการยังมิได้รับมอบกิจการและทรัพย์สินของบริษัทจากคณะกรรมการชุดเก่าทั้งยังมีคดีกันอยู่ ขอให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อแถลงความเป็นไปของบริษัทในระหว่างนั้น และพิจารณาว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไปจึงจะเป็นผลดีแก่บริษัทและผู้ถือหุ้นทั้งหลาย นายทองคำบันทึกไว้ข้างท้ายเอกสารหมาย ล. 2 ให้นัดประชุมใหญ่ในวันที่ 11 ตุลาคม 2513 ตามคำร้องขอของผู้ถือหุ้นปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ว่า ผู้ถือหุ้น 28 ราย จำนวนหุ้น489 หุ้น มอบฉันทะให้พันตำรวจตรีมงคลเข้าประชุมแทน พันตำรวจตรีมงคลพยานจำเลยเบิกความว่าหุ้นทั้งหมดมีประมาณ 1,000 หุ้น ตามหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ เอกสารหมาย จ.3 พันตำรวจตรีมงคลมีหุ้นอยู่ 50 หุ้น มติของที่ประชุมครั้งนี้ให้ถอนฟ้องคดีล้มละลายหมายเลขดำที่ 59/2513 ซึ่งนายสนิท  ผู้ถือหุ้น 123 หุ้น (ตามเอกสารหมาย ล.4) เป็นจำเลยและตามเอกสารหมาย 1 ท้ายคำให้การจำเลย นายสนิทเป็นกรรมการบริษัทในชุดนายทองคำด้วยกับมีมติให้ถอนฟ้องคดีอาญาฐานยักยอกหมายเลขดำที่ 7302/2511 ของศาลแขวงพระนครใต้ซึ่งพันตำรวจตรีมงคลเป็นจำเลย ปรากฏว่าพันตำรวจตรีมงคลกับนายสนิทต่างลงคะแนนเสียงให้ตนเองด้วย ดังนี้ เห็นได้ว่าการประชุมครั้งนี้ส่อเจตนาไม่สุจริตต่อบริษัทจำเลย ไม่ตรงตามความประสงค์ของผู้ถือหุ้นที่ร้องขอให้มีการประชุมใหญ่ตามเอกสารหมาย ล.2 ดังกล่าว ก่อนการประชุมครั้งวันที่ 11 ตุลาคม 2513 นี้ นาวาอากาศเอกสำราญ  กับนายภิรมย์ ได้ไประงับการประชุมแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.1 คณะกรรมการชุดนายทองคำเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับของบริษัทจำเลย การนัดประชุมใหญ่ในวันที่ 11 ตุลาคม 2513 โดยกรรมการชุดนี้ไม่ชอบด้วยข้อบังคับบริษัทข้อ 20 ประกอบกับพฤติการณ์ของการประชุมดังได้กล่าวมาข้างต้น มติต่าง ๆ ของที่ประชุมครั้งนี้จึงไม่มีผล ใช้บังคับไม่ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้อง ข้อ 1 ว่า ให้การประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม2513 และมติต่าง ๆ ที่ลงไว้ไม่มีผลใช้บังคับได้นั้น ชอบแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการใดหรือมติใดที่ลงไว้ในการประชุมใหญ่วันที่ 22 กุมภาพันธ์2513 ก็ไม่มีผลใช้บังคับได้เช่นเดียวกันนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 กล่าวว่า "2. ขอศาลได้โปรดพิพากษาว่า โดยผลของการประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 ตกเป็นโมฆะตามกฎหมายและข้อบังคับแล้ว การใดหรือมติใดที่กระทำไปโดยคณะกรรมการของบริษัทจำเลยดังกล่าวในข้อ 1 จึงตกเป็นโมฆะ" นั้น ที่กล่าวถึงการประชุมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 นี้ เป็นการเท้าความถึงเท่านั้น หาได้มุ่งหมายจะให้พิพากษาว่า การประชุมใหญ่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 และมติเป็นโมฆะไม่ ทั้งคำบรรยายฟ้องก็มิได้บรรยายในทำนองนั้นแท้ที่จริงประสงค์จะให้พิพากษาว่า การใดหรือมติใดที่กระทำไปโดยคณะกรรมการของบริษัทจำเลยดังกล่าวในข้อ 1 ของคำขอท้ายฟ้องคือการประชุมและมติในวันที่ 11 ตุลาคม 2513 ตกเป็นโมฆะ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้อง ข้อ 1 ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 อีก

 พิพากษาแก้เฉพาะข้อที่ศาลอุทธรณ์ว่า การใดหรือมติใดที่ลงไว้ในการประชุมใหญ่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 ไม่มีผลใช้บังคับได้นั้นเป็นให้ยกข้อนี้เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

มาตรา 1171 ให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประชุมใหญ่ภายใน หกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนบริษัท และต่อนั้นไปก็ให้มีการประชุม เช่นนี้ครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อยทุกระยะเวลาสิบสองเดือน

การประชุมเช่นนี้ เรียกว่าประชุมสามัญ

การประชุมใหญ่คราวอื่นบรรดามีนอกจากนี้ เรียกว่าประชุมวิสามัญ

มาตรา 1173 การประชุมวิสามัญจะต้องนัดเรียกให้มีขึ้นในเมื่อผู้ถือหุ้น มีจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าแห่งจำนวนหุ้นของบริษัทได้เข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมเช่นนั้น ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด

มาตรา 1195 การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของ บริษัทก็ดีเมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้วให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น




ประชุมใหญ่บริษัท