

คำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ คำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้แล้ว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจสั่งเองได้ ต้องส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องที่จำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งแตกต่างกับกรณีที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์หลังจากที่ศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีไปแล้ว ไม่เป็นกรณีที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์สั่ง หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยยื่นอุทธรณ์ ในระหว่างส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ คดีเสร็จการพิจารณาจากศาลอุทธรณ์แล้ว จึงไม่มีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ที่จะให้จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งได้ การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จสิ้นการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้ว หากจำเลยประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปก็มีสิทธิยื่นฎีกาได้ตามกฎหมายและให้ยกคำร้องของจำเลยจึงชอบแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 18 ให้อำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะตรวจคำคู่ความและมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความนั้นได้ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะมีคำสั่งคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ โดยไม่จำต้องได้รับมอบหมายจากศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้แล้ว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจสั่งเองได้ ต้องส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องที่จำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งแตกต่างกับกรณีที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์หลังจากที่ศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีไปแล้ว ไม่เป็นกรณีที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์สั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยมีสิทธิยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 แต่จำเลยหาได้ยื่นฎีกาไม่ กลับโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์โดยการยื่นคำร้องแทน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 195344, 52035 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นรับเป็นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองนำส่งสำเนาให้โจทก์แก้ภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วัน พนักงานเดินหมายรายงานว่าส่งสำเนาอุทธรณ์และหมายนัดให้แก่โจทก์ไม่ได้ จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่แถลงว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปอันเป็นการไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ จึงพิพากษาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองมิได้เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ขอศาลอุทธรณ์ทำการไต่สวนหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีเสร็จสิ้นการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้ว หากจำเลยทั้งสองประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปก็มีสิทธิยื่นฎีกาได้ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยทั้งสองฎีกา พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ หมายเหตุ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น มาตรา 18 ให้ศาลมีอำนาจที่จะตรวจคำคู่ความ คำฟ้องอุทธรณ์เป็นคำคู่ความ จึงเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะตรวจอุทธรณ์ ทั้งมาตรา 232 ให้อำนาจศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อมาตรา 144 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว จึงมีข้อยกเว้นบัญญัติอยู่ในมาตรา 144 (3) ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการยื่น การยอมรับหรือไม่ยอมรับซึ่งอุทธรณ์ตามมาตรา 229 ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งรับอุทธรณ์และสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ได้ ส่วนการสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์เพราะจำเลยทิ้งอุทธรณ์ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นเลย เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์แล้วจึงต้องด้วยมาตรา 131 ที่ต้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 131 (2) การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์นั้น จำเลยมิได้ประสงค์จะให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว และมิใช่กรณีตามมาตรา 144 (3) ทั้งคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์เป็นคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงไม่น่าจะมีอำนาจสั่งคำร้องดังกล่าว ศาลชั้นต้นควรส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์สั่งตามความประสงค์ของจำเลย แม้จะมิใช่อุทธรณ์ตามมาตรา 232 ก็ตาม ถ้าศาลชั้นต้นส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง แต่เมื่อไม่มีคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 131 (1) ศาลอุทธรณ์น่าจะมีคำสั่งยกคำร้องโดยอ้างเหตุผลว่ากรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 131 (1) ที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยได้ อนึ่ง คำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ มิใช่คำร้องที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ จึงไม่ใช่คำคู่ความตามมาตรา 1 (5) ที่จะต้องตรวจและมีคำสั่งตามมาตรา 18 ไพโรจน์ วายุภาพ ป.วิ.พ. มาตรา 18, 132, 223, 232, 247 มาตรา 18 ให้ศาลมีอำนาจที่จะตรวจคำคู่ความที่พนักงาน เจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้เพื่อยื่นต่อศาล หรือส่งให้แก่คู่ความ หรือบุคคลใด ๆ ถ้าศาลเห็นว่าคำคู่ความที่ได้ยื่นไว้ดังกล่าวแล้วนั้น อ่านไม่ออก หรืออ่านไม่เข้าใจหรือการเขียนฟุ่มเฟือยเกินไป หรือไม่มีรายการ ไม่มีลายมือชื่อ ไม่แนบเอกสารต่าง ๆ ตามที่กฎหมายต้องการ หรือมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วน ศาลจะมีคำสั่งให้คืนคำคู่ความนั้นไปให้ทำมาใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือชำระ หรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนภายใน ระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตลอดจนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ ถ้ามิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล ในระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ก็ให้มีคำสั่งไม่รับคำคู่ความนั้น ถ้าศาลเห็นว่าคำคู่ความที่ได้นำมายื่นดั่งกล่าวข้างต้นมิได้เป็นไป ตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายที่บังคับไว้ นอกจากที่กล่าวมาในวรรคก่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเห็นว่าสิทธิของคู่ความหรือบุคคล ซึ่งยื่นคำคู่ความนั้นได้ถูกจำกัดห้ามโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เรื่องเขตอำนาจศาล ก็ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความนั้นไป เพื่อยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ถ้าไม่มีข้อขัดดังกล่าวแล้ว ก็ให้ศาลจดแจ้งแสดงการรับคำคู่ความ นั้นไว้บนคำคู่ความนั้นเองหรือในที่อื่น คำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตาม มาตรานี้ ให้อุทธรณ์ และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 227 มาตรา 228 และ มาตรา 247 |