ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




เจ้าพนักงานศาลไม่ส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์

เจ้าพนักงานศาลไม่ส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์

ขณะยื่นคำร้องขัดทรัพย์เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลแล้ว ผู้ร้องได้เสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้เจ้าพนักงานศาลแล้วเจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีสำนักงานอยู่ ณ ที่ใด ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องไปร้องขอต่อเจ้าพนักงานศาลเพื่อให้ส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีอีก การที่ผู้ร้องได้เสียค่าธรรมเนียมในการส่งมีผลเท่ากับผู้ร้องได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งไม่ดำเนินการส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดไปตามกำหนด การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2541

  ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลแล้ว โดยกำหนดขายในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 ผู้ร้องได้เสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนา คำร้องขัดทรัพย์ให้เจ้าพนักงานศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้าย แล้วเมื่อสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์อยู่ในอาคารเดียวกันกับศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีสำนักงานอยู่ ณ ที่ใด ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องไปร้องขอต่อเจ้าพนักงานศาลเพื่อให้ส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(1) อีก การที่ผู้ร้องได้เสียค่าธรรมเนียมในการส่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้ายในคดีนี้มีผลเท่ากับผู้ร้องได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งไม่ดำเนินการส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ทราบว่าศาลได้รับคำร้องดังกล่าวไว้แล้วและได้ดำเนิน การขายทอดตลาดไปตามกำหนดการขายทอดตลาดจึงไม่ชอบผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง

          กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมผ่อนชำระหนี้ 433,987 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยผิดนัดชำระหนี้ศาลชั้นต้นจึงออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขอของโจทก์หลังจากนั้นโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านเลขที่ 177 หมู่ 3 ตำบลช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้วประกาศกำหนดการขายทอดตลาด ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 เวลา 11 นาฬิกา

          เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องและให้ผู้ร้องนำส่งหมายเรียกและหมายนัดให้โจทก์ จำเลยและเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน ต่อมาในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 ภายหลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดไปตามกำหนดโดยมีผู้ซื้อทรัพย์พิพาทได้ในราคา 40,000 บาทแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิ่งได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องนำส่งหมายนัดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปรากฏว่าเพิ่งส่งหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีวันนี้ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดไปตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์ไปก่อนรับหมายและไม่ปรากฏว่าการขายทอดตลาดฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างไรจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดให้ยกคำร้อง

          ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 จึงไม่รับอุทธรณ์ ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าอุทธรณ์ของผู้ร้องมิใช่เนื้อหาของคดีร้องขัดทรัพย์ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ให้รับอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วโจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ผู้ร้องไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 เป็นเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ไปแล้ว การขายทอดตลาดจึงชอบแล้วศาลไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนเสียได้ ปรากฏว่าข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยโดยโจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รายงานให้ศาลชั้นต้นทราบตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2539 แล้วว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลแล้ว โดยกำหนดขายในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วันต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 ผู้ร้องได้เสียค่าธรรมเนียมในการนำส่งให้แก่เจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งสำเนาคำร้องแล้ว และสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่ในอาคารเดียวกันกับศาลชั้นต้น เห็นว่าผู้ร้องได้เสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้เจ้าพนักงานศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้ายแล้ว เมื่อปรากฏว่าสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์อยู่ในอาคารเดียวกันกับศาลชั้นต้น ตามพฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่าเจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีสำนักงานอยู่ ณ ที่ใด ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องไปร้องขอต่อเจ้าพนักงานศาล เพื่อให้ส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(1) อีก การที่ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้าย ในคดีนี้มีผลเท่ากับผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วเมื่อเจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งไม่ดำเนินการส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ทราบว่าผู้ร้องได้ร้องขัดทรัพย์และศาลได้รับคำร้องดังกล่าวไว้แล้ว และได้ดำเนินการขายทอดตลาดไปตามกำหนด การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบ ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลล่างเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

          พิพากษายืน


   
ป.วิ.พ. มาตรา 70, 288, 296 วรรคสอง

มาตรา 70 บรรดาคำฟ้อง หมายเรียกและหมายอื่น ๆ คำสั่ง คำบังคับของศาลนั้นให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งให้แก่คู่ความหรือ บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง แต่ว่า
(1) หมายเรียกพยาน ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานนั้นเป็นผู้ส่ง โดยตรงเว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น หรือพยานปฏิเสธไม่ยอม รับหมาย ในกรณีเช่นว่านี้ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่ง
(2) คำสั่ง คำบังคับของศาล รวมทั้งคำสั่งกำหนดวันนั่งพิจารณา หรือสืบพยาน แล้วแต่กรณีหรือคำสั่งให้เลื่อนคดี ถ้าคู่ความหรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นอยู่ในศาลในเวลาที่มีคำสั่งและได้ลงลายมือชื่อ รับรู้ไว้ ให้ถือว่าได้ส่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำฟ้องนั้น ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมในการส่ง ส่วนการนำส่งนั้น โจทก์จะนำส่งหรือไม่ก็ได้ เว้นแต่ศาลจะสั่งให้โจทก์มีหน้าที่จัดการนำส่งส่วนหมายเรียก หมายอื่น ๆ คำสั่ง คำบังคับของศาลที่ได้ออก ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใด ถ้าศาลมิได้สั่งให้จัดการนำส่งด้วย ก็ให้คู่ความฝ่ายนั้นเพียงแต่เสียค่าธรรมเนียมในการส่ง ในกรณีอื่น ๆ ให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะจัดการส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 288 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง มาตรา 55 ถ้าบุคคลใด กล่าวอ้างว่าจำเลย หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สิน ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออก ขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อ ศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้กล่าวอ้างนั้นนำส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตาม คำพิพากษา และจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงาน บังคับคดีโดยลำดับ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่พิพาทนั้นไว้ในระหว่าง รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลดั่งที่บัญญัติไว้ต่อไปนี้
เมื่อได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลแล้ว ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสิน คดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา เว้นแต่
(1) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนวันกำหนดชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยาน หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้า มาเพื่อประวิงให้ชักช้าศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างวางเงิน ต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดไว้ในคำสั่งตามจำนวนที่ ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดี อันเกิดแต่การยื่นคำร้องขอนั้น ถ้าผู้กล่าวอ้างไม่ ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบ ความ
(2) ถ้าทรัพย์สินที่พิพาทนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์และมีพยาน หลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องขอนั้นไม่มีเหตุอันควรฟัง หรือถ้า ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ยึดนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เก็บไว้นานไม่ได้ ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาด หรือจำหน่ายทรัพย์สินเช่นว่านี้โดยไม่ชักช้า
คำสั่งของศาลตามวรรคสอง (1) และ (2) ให้เป็นที่สุด
หมายเหตุมาตรา 288 แก้ไขโดยพรบ. แก้ไขเพิ่มเติมปวิพ.(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2499

มาตรา 296 ในกรณีที่คำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งศาลใน ชั้นบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควร ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าพนักงาน บังคับคดีรายงานต่อศาล หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตาม คำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้อง เสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่ง เพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งดังกล่าวทั้งหมด หรือบางส่วนหรือมีคำสั่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร

ภายใต้บังคับ มาตรา 309ทวิ วรรคสอง ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดี ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็น สมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วน ได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้อง ต่อศาลให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการ บังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะ หรือมีคำสั่ง กำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร

การยื่นคำร้องตาม มาตรานี้ อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการ บังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบข้อ ความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้ผู้ยื่นคำร้อง ต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องฝ่าฝืนต่อ บทบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบรรณแก่การ กระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะ เดียวกันนั้นให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้

เพื่อประโยชน์แห่ง มาตรานี้ ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อ ได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ส่งมอบ ทรัพย์สินการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใด เมื่อได้มีการ ปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีที่ให้ส่งมอบทรัพย์สินกระทำ การหรืองดเว้นกระทำการอย่างนั้นแล้ว แต่ถ้าการปฏิบัติการตาม คำบังคับหรือหมายบังคับคดีดังกล่าวอาจแยกได้เป็นส่วน ๆ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีในส่วนใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะในส่วนนั้น
(2) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ใช้เงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตาม มาตรา 318 มาตรา 319 มาตรา 320 มาตรา 321 หรือ มาตรา 322 แล้วแต่กรณี แล้วแต่ ถ้าทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีมีหลายรายการเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะทรัพย์สินรายการนั้น

ในการยื่นคำร้องต่อศาลตาม มาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้น แสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาล เห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหาย เนื่องจากการคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะ สั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายใน ระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันการชำระค่า สินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่น คำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด

ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งและ วรรคสองถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่ได้รับความ เสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวเห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและ ยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้าบุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาล ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง ให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจาก คดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นรับฟังได้ให้ศาลมี คำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตาม คำพิพากษาหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวตามจำนวนที่ ศาลเห็นสมควร ถ้าผู้ยื่นคำร้องนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมี อำนาจบังคับผู้ยื่นคำร้องนั้นได้เสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
หมายเหตุมาตรา 296 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ. แก้ไขเพิ่มเติมปวิพ.(ฉบับที่ 18) พ.ศ.2542

 




ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

การเพิ่มจำนวนผู้เป็นโจทก์เข้ามาในคำฟ้องเดิม
บุคคลภายนอกไม่ส่งเงินที่ถูกอายัด
คดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
ขอคุ้มครองชัวคราวระหว่างพิจารณาคดี
ให้จำเลยเปิดทางพิพาทชั่วคราว
วิธีการชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษา
หน้าที่ของผู้อุทธรณ์ในกรณีศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์
คำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ
คำสั่งระหว่างพิจารณาจำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์
คำสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
ยกคำร้องขอฟ้องฎีกาอย่างคนอนาถา
แสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนด 8 วัน
บันทึกการปิดหมายของเจ้าหน้าที่ศาล
ผลแห่งคำพิพากษาและคำสั่ง
ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หมวด 1 หลักทั่วไป
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน
คำฟ้องโจทก์ไม่มีลายมือชื่อของผู้เรียงพิมพ์
การส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องข้ามเขต