ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




การได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา

การได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา

การที่จำเลย(บิดา)ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ เป็นการได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่า อันเป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา การที่โจทก์(มารดา)ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ โดยอ้างเหตุแห่งการฟ้องร้องว่าจำเลย(บิดา)ปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครอง ดังนั้น สถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนหย่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6155/2540
 
จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อันเป็นการ ได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1520 และมาตรา 1566(1) เป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ของจำเลย โดยอ้างเหตุแห่งการฟ้องร้องว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองจึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่า ดังนั้น สถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ของจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนการหย่าและทำบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร จึงต้องถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และเมื่อศาลจังหวัดสระบุรีมิใช่ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลโจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าบุตรผู้เยาว์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดสระบุรีอันเป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้
 
มาตรา 1520  ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา 1582 ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ

มาตรา 1566  บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
(1) มารดาหรือบิดาตาย
(2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้
 
          โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชายพิชิตและเด็กหญิงชุติมา อายุ 13 ปี และ 10 ปี ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2536 โจทก์ จำเลยตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน โดยให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย ค่าเลี้ยงดูและค่าการศึกษาของบุตรทั้งสองจำเลยเป็นผู้ออกทั้งสิ้น หลังจากหย่ากันแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยปล่อยปละละเลยไม่เลี้ยงดูบุตรทั้งสองปล่อยให้โจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรทั้งสอง ซึ่งต้องสิ้นค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 5,000 บาท ทั้งบุตรผู้เยาว์ทั้งสองต้องการอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ปัจจุบันบุตรผู้เยาว์ทั้งสองพักอาศัยอยู่กับโจทก์ ณ บ้านเลขที่ 67/17 ถนนพหลโยธิน ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย โดยให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่กับโจทก์

          จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยหย่ากันที่สำนักงานเขตดุสิตกรุงเทพมหานคร มูลคดีจึงเกิดที่กรุงเทพมหานคร ทั้งจำเลยก็มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี โจทก์จึงเสนอคำฟ้องต่อศาลจังหวัดสระบุรีไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองเด็กชายพิชิต และเด็กหญิงชุติมา ของจำเลยทั้งหมด แล้วให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองคน
          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อแรกต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 51 หมู่ 4ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ในเขตศาลจังหวัดปทุมธานี โจทก์มิได้ฟ้องคดีต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า ศาลจังหวัดสระบุรีเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้นเป็นการได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และมาตรา 1566(6) อันเป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลยโดยอ้างเหตุแห่งการฟ้องร้องว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองจึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่า ดังนั้น สถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล เมื่อได้ความว่าโจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนการหย่าและทำบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จึงต้องถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครศาลจังหวัดสระบุรีจึงหาใช่ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้ คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดสระบุรีอันเป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้
          พิพากษายืน




ผู้ใช้อำนาจปกครอง

ไม่มีกฎหมายให้ศาลรับฟังความประสงค์ของบุตรว่าจะอยู่กับฝ่ายบิดา หรือฝ่ายมารดา
สมควรให้มารดาเป็นผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์
เรียกบุตรคืนจากสามีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ถอนอำนาจปกครองตามบันทึกการหย่า