ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




เหตุฟ้องหย่าในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนต้องห้าม

เหตุฟ้องหย่าในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนต้องห้าม

ปี 2545 โจทก์ฟ้องหย่าอ้างเหตุสมัครใจแยกกันอยู่ คดีอยู่ระหว่างฎีกา ปี 2547 โจทก์ฟ้องหย่าอ้างเหตุเดียวกัน ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีก่อน หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าในระหว่างนั้นโจทก์และจำเลยได้กลับมาอยู่ด้วยกันแล้วสมัครใจแยกกันอยู่อีกก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ดังนั้นมูลเหตุแห่งการฟ้องหย่าทั้งในคดีก่อนและในคดีนี้จึงเป็นมูลเหตุเรื่องเดียวกัน เหตุฟ้องหย่าในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8186/2551
 
  การสมัครใจแยกกันอยู่ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องหย่าตามที่โจทก์อ้างในคดีก่อน เกิดเมื่อประมาณปลายปี 2539 ในคดีนี้โจทก์ก็อ้างมูลเหตุแห่งการฟ้องหย่าเดียวกันที่เกิดเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2539 อันเป็นช่วงปลายปี 2539 เมื่อไม่ปรากฏว่าในระหว่างนั้นโจทก์และจำเลยได้กลับมาอยู่ด้วยกันแล้วสมัครใจแยกกันอยู่อีกก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ มูลเหตุแห่งการฟ้องหย่าทั้งในคดีก่อนและในคดีนี้จึงเป็นมูลเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนั่นเอง เมื่อเป็นเรื่องเดียวกันและโจทก์ได้อ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าในคดีก่อนแล้ว เหตุฟ้องหย่าในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ป.พ.พ.
มาตรา 1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
 
ป.วิ.พ.

มาตรา 173  เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่งสำเนาคำฟ้อง
ให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง ให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น
นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นและ
(2) ถ้ามีเหตุเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพฤติการณ์อันเกี่ยวด้วยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้น เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาของจำเลย การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้หาตัดอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีไว้ในอันที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไม่
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายระหว่างอยู่กินมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กชายวิชญ์พล ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม 2539 จำเลยนำบุตรชายออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาอันเป็นการแสดงเจตนาแยกกันอยู่ และไม่ได้กลับไปอยู่กับโจทก์อีก ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2545 โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1121/2545 จำเลยให้การและฟ้องแย้งในคดีดังกล่าว นอกจากนั้นจำเลยยังฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นและศาลอื่นอีกรวมทั้งสิ้น 5 คดี อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถอยู่ร่วมกับโจทก์ได้อย่างปกติสุข ซึ่งการแสดงเจตนาของโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาสมัครใจแยกกันอยู่ไม่ประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยาอีกต่อไป และเป็นการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่สามารถอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาได้ จนถึงบัดนี้เป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี นับตั้งแต่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1121/2545 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว จำเลยประพฤติตัวไม่เหมาะสมโดยรบกวนการอยู่อาศัยของโจทก์ บุกรุกสถานที่พักอาศัย ก่อให้เกิดความวุ่นวายนอกจากนี้จำเลยต้องใช้เวลาในการทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงดูบุตรและดูแลบุตรให้ได้รับความอบอุ่น แต่จำเลยกลับใช้เวลาไปกับการหาข้อมูลในการฟ้องร้องคดีต่อโจทก์ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นความผิดของจำเลยเอง จำเลยมีรายได้เดือนละ 9,000 บาท ไม่เพียงพอในการเลี้ยงดูบุตร ต่างจากโจทก์ซึ่งทำงานในตำแหน่งนักบิน สามารถใช้สิทธิของสวัสดิการในการดูแลบุตรได้ดีกว่าจำเลย ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ให้โจทก์มีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว

          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ แต่โจทก์เป็นฝ่ายให้จำเลยไปอยู่กับบิดามารดาของจำเลยเพื่อให้ช่วยในการดูแลบุตรผู้เยาว์ เนื่องจากโจทก์เป็นนักบิน ไม่มีเวลาช่วยดูแลบุตร แต่จำเลยกลับนำเวลาดังกล่าวไปหาหญิงอื่นและคิดเป็นอุบายในการฟ้องหย่ากับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยและขอคุ้มครองชั่วคราวโดยขอขายบ้านที่อยู่กินกับจำเลย แต่ศาลไม่อนุญาต โจทก์จึงแอบขายบ้านหลังดังกล่าวไปโดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์ไม่มีภริยา ทำให้จำเลยไม่สามารถกลับไปอยู่อาศัยที่บ้านหลังดังกล่าวได้ จำเลยจึงฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการโอนและดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ส่วนในคดีที่โจทก์ฟ้องหย่านั้น จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีอยู่ระหว่างการฎีกา จำเลยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มาโดยตลอด ส่วนโจทก์ไม่เคยส่งเสียเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เลย ซึ่งจำเลยได้ฟ้องโจทก์เป็นอีกคดีหนึ่งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่โจทก์ก็ยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1121/2545 ของศาลชั้นต้น ซึ่งยังอยู่ในระหว่างระยะเวลายื่นฎีกา โดยโจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาไว้ ถ้าหากโจทก์ไม่ยื่นฎีกา คดีนี้ก็จะเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 810/2547 หรือไม่ และโจทก์แถลงว่าติดใจในประเด็นที่ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเพียงประเด็นเดียวว่า คดีมีเหตุหย่าเพราะโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี หรือไม่ ส่วนประเด็นอื่นนั้น ฝ่ายโจทก์ไม่ติดใจที่จะขอให้ศาลวินิจฉัย

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีของโจทก์ในประเด็นตามคำฟ้องข้ออื่นนอกจากในคำฟ้องข้อ 2 ต่อไปและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 810/2547 ของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากันโดยอ้างเหตุหย่าในคดีดังกล่าวว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เหตุหย่าตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ที่ว่า โจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีเป็นฟ้องซ้อนในเหตุหย่าเดียวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 810/2547 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำแถลงรับของคู่ความตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 กันยายน 2549 ว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 810/2547 ของศาลชั้นต้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาในคดีนี้โจทก์ขอสละประเด็นอื่นคงเหลือประเด็นที่ว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี เห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องหย่าตามที่โจทก์อ้างในคดีก่อนเกิดเมื่อประมาณปลายปี 2539 ในคดีนี้โจทก์ก็อ้างว่ามูลเหตุแห่งการฟ้องหย่าเกิดเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2539 อันเป็นช่วงปลายปี 2539 เมื่อไม่ปรากฏว่าในระหว่างนั้นโจทก์และจำเลยได้กลับมาอยู่ด้วยกันแล้วสมัครใจแยกกันอยู่อีกก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ดังนั้นมูลเหตุแห่งการฟ้องหย่าทั้งในคดีก่อนและในคดีนี้จึงเป็นมูลเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อโจทก์ได้อ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าในคดีก่อนแล้ว เหตุฟ้องหย่าในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

 




ฟ้องซ้อน