ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




สามีภริยาเปิดบัญชีเงินฝากรวมกัน, การเบิกถอนเงิน

สามีภริยาเปิดบัญชีเงินฝากรวมกัน, การเบิกถอนเงิน

ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา  สามีภริยาเปิดบัญชีเงินฝากรวมกัน เงินฝากในบัญชีธนาคารเป็นสินสมรส  การฝากเงินกับธนาคารเป็นสัญญาฝากทรัพย์  การเบิกถอนเงินจากธนาคารต้องลงลายมือชื่อร่วมกัน  การลงลายมือชื่อร่วมกันในการเบิกถอนเงินถือเป็นสาระสำคัญ  หากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ  สัญญาฝากทรัพย์ในกิจการของธนาคารพึงต้องใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาที่ต้องใช้และสมควรต้องใช้  เมื่อเงินในบัญชีเป็นสินสมรส ธนาคารต้องรับผิดชดใช้เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8144/2548

 มาตรา 1470  ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส

มาตรา 1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
 
 
  การที่โจทก์กับ ม. ขอเปิดบัญชีร่วมกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยกำหนดเงื่อนไขในการเบิกถอนเงินจากบัญชีว่าโจทก์กับ ม. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะเซ็นสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวจากสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ถือเอาเงื่อนไขการเบิกถอนเงินตามที่กำหนดไว้ในคำขอเปิดบัญชีร่วมเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โจทก์ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจว่าหากโจทก์มิได้ร่วมลงลายมือชื่อในใบถอนเงินด้วย จะไม่มีใครสามารถที่จะเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการเบิกถอนเงินเช่นว่านี้เป็นอย่างอื่น ย่อมต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญยิ่งของสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กล่าวคือ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวก็ชอบที่ฝ่ายโจทก์คือทั้งโจทก์และ ม. จะต้องมาปรากฏตัวแสดงตนต่อจำเลยที่ 1 ด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การที่จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์และ ม. เป็นลูกค้ารายใหญ่และยอมผ่อนปรนวิธีปฏิบัติให้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้บุคคลทั้งสองมาปรากฏตัวเพื่อแสดงความประสงค์พร้อมกันด้วยตนเองต่อจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหมายเพียงเพื่อการเอาใจลูกค้ารายใหญ่ให้ได้รับความสะดวกโดยไม่ถือปฏิบัติเช่นที่ต้องปฏิบัติตามปกติ ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาที่ต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการธนาคารพาณิชย์ของตน เมื่อลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินฝากเป็นลายมือชื่อปลอม พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นลายมือชื่อปลอมจึงอนุมัติให้ ม. เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนได้ เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการธนาคารของตนในส่วนนี้อีกโสดหนึ่งด้วย

          ขณะที่โจทก์กับ ม. เปิดบัญชีร่วมต่อจำเลยที่ 1 และ ม. ยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินจากบัญชี รวมทั้งขณะที่ ม. เบิกถอนเงินจากบัญชีร่วมดังกล่าวไปแต่ผู้เดียวนั้น โจทก์กับ ม. ยังเป็นสามีภริยากัน ซึ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1470 และถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ตามมาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ประกอบกับหากเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของโจทก์คนเดียว ก็ไม่มีเหตุที่โจทก์กับ ม. จะกำหนดเงื่อนไขการเบิกถอนเงินว่าต้องลงลายมือสั่งจ่ายทั้งสองคนร่วมกัน จึงฟังว่าเงินในบัญชีเงินฝากที่ ม. เบิกถอนไปนั้นเป็นสินสมรส ซึ่งโจทก์มีส่วนอยู่เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ในส่วนนี้

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 10,902,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี ของต้นเงิน 9,328,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 9,328,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราที่โจทก์ควรจะได้ หากไม่มีการถอนเงินตามฟ้องออกจากบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 101 - 267717 - 3 แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

          จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับประเด็นปัญหาว่า พนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังตามปกติธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการอาชีพธนาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 1 หรือไม่ นั้น เห็นว่า การที่โจทก์กับนายมอริสขอเปิดบัญชีร่วมต่อธนาคารจำเลยที่ 1 โดยกำหนดเงื่อนไขในการเบิกถอนเงินจากบัญชีว่า  โจทก์กับนายมอริสต้องลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะเซ็นสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวว่าสัญญาฝากทรัพย์ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ถือเอาเงื่อนไขการเบิกถอนเงินตามที่กำหนดเป็นสาระสำคัญ  และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โจทก์ผู้ฝากเงิน เกิดความมั่นใจ หากโจทก์มิได้ร่วมลงลายมือชื่อในใบถอนเงินด้วย จะไม่มีใครสามารถที่จะเบิกถอนเงินจากบัญชีนี้ได้ ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไข การเบิกถอนเงินเช่นว่านี้เป็นอย่างอื่น ย่อมต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญยิ่ง ของสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างฝ่ายโจทก์ผู้ฝากเงิน กับฝ่ายจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากเงิน กล่าวคือ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวก็ชอบที่ฝ่ายโจทก์ คือทั้งโจทก์และนายมอริสจะต้องมาปรากฏตัวแสดงตนต่อจำเลยที่ 1 ด้วยตนเอง หรือทำหนังสือมอบอำนาจมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และความข้อนี้ นางอำไพ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 เอง ก็เบิกความถึงวิธีปฏิบัติของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หากโจทก์และนายมอริส จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนเงินก็สามารถจะกระทำได้ หากโดยทั่วไปเป็นลูกค้าปกติจะต้องมาทั้งหมด แต่เนื่องจากโจทก์กับนายมอริส เป็นลูกค้ารายใหญ่ การเปลี่ยนแปลงและเบิกถอนเงินจากบัญชีไม่จำเป็นที่บุคคลทั้งสองจะต้องมาพร้อมกัน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ผู้รับฝากเงิน และมีวิชาชีพเฉพาะกิจการธนาคารไม่ตระหนักถึงพันธกิจในหน้าที่ของตนที่จะต้องใช้ความระมัดระวังกว่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการเช่นว่านี้ ด้วยการต้องถือปฏิบัติว่าลูกค้าผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนเงินในบัญชีร่วมเช่นนี้จะต้องมาปรากฏตัวต่อธนาคารด้วยตนเองทุกคนหรือทำหนังสือมอบอำนาจมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ   ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์และนายมอริส เป็นลูกค้ารายใหญ่และยอมผ่อนปรนวิธีปฏิบัติให้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้บุคคลทั้งสองมาปรากฏตัวเพื่อแสดงความประสงค์พร้อมกันด้วยตนเองต่อจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหมายเพียงเพื่อการให้บริการเอาใจลูกค้ารายใหญ่ให้ได้รับความสะดวกโดยไม่ถือปฏิบัติเช่นที่ต้องปฏิบัติตามปกติ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาที่ต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการธนาคารพาณิชย์ของตนเอง เมื่อลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินฝากเป็นลายมือชื่อปลอม พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นลายเซ็นปลอม จึงอนุมัติให้นายมอริส เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนได้ โดยกล่าวด้วยว่านายมอริส เป็นลูกค้ารายใหญ่ และคุ้นเคยกับจำเลยที่ 2 เป็นอย่างดี เช่นนี้ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการธนาคารพาณิชย์ของตนในส่วนนี้อีกโสดหนึ่งด้วย รวมความแล้วศาลฎีกาเห็นว่า การที่พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจไม่พบว่าลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากเป็นลายเซ็นปลอมและอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนเงินได้นั้น เข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ผู้รับฝากซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการธนาคารพาณิชย์ของตนดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคท้าย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เงินในบัญชีร่วมที่ถูกเบิกถอนไปดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

    สำหรับประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้น จำเลยที่ 1 กล่าวในคำแก้ฎีกาว่า โจทก์กับนายมอริสเป็นสามีภริยากัน เงินฝากในบัญชีรวมจึงเป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 ไม่ควรจะต้องรับผิดต่อโจทก์เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนเงินดังกล่าวที่นายมอริส เบิกถอนไปจากบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1357 นั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นสั่งคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า รับเป็นคำแถลงการณ์เพราะเห็นว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำแก้ฎีกาเกินกำหนดก็ตาม แต่ศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำแก้ฎีกาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 247 แล้ว จึงให้รับคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณา และประเด็นตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่าจนถึงวันที่โจทก์มาเบิกความต่อศาล โจทก์กับนายมอริสเพียงแต่แยกกันอยู่แต่ยังมิได้หย่าขาดจากกัน ย่อมแสดงว่าขณะที่โจทก์กับนายมอริสเปิดบัญชีรวมต่อจำเลยที่ 1 และนายมอริสยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีรวมทั้งขณะที่นายมอริสเบิกถอนเงินจากบัญชีร่วมดังกล่าวไปแต่ผู้เดียวนั้น โจทก์กับนายมอริสยังเป็นสามีภริยากันอันมีผลต่อระบบทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาว่าทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินสมรสดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1470 และถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่มาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ซึ่งหากหย่ากันกฎหมายกำหนดให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์และนายมอริสได้ส่วนเท่ากันตามมาตรา 1533 ประกอบกับหากเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของโจทก์คนเดียว ก็ไม่มีเหตุที่โจทก์กับนายมอริสจะกำหนดเงื่อนไขการเบิกถอนเงินว่าต้องลงลายมือชื่อสั่งจ่ายทั้งสองคนร่วมกัน อีกทั้งเมื่อมาตรา 1474 วรรคสอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเงินในบัญชีเงินฝากเช่นนี้เป็นสินสมรส โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว แต่โจทก์หาได้นำสืบไม่ จึงต้องฟังว่าเงินในบัญชีเงินฝากที่นายมอริสเบิกถอนไปทั้งหมดนั้นเป็นสินสมรส ซึ่งโจทก์มีส่วนอยู่เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ในส่วนนี้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,664,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราที่โจทก์จะได้รับหากไม่มีการถอนเงินตามฟ้องออกจากบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 101 - 267717 - 3 แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

 




ยืม ค้ำประกัน จำนำ จำนอง

เงินฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร
สิทธิการเช่า-จำนำไม่ได้
สิ่งปลูกสร้างเป็นส่วนควบของที่ดินที่จำนอง
สัญญาจำนองยกเว้นให้เจ้าหนี้ยึดทรัพย์สินอื่นได้
ยึดโฉนดที่ดินเป็นประกันเงินกู้ยืม
สัญญาเงินกู้ไม่มีมูลหนี้ที่ต้องรับผิด
จดทะเบียนภาระจำยอมกับทรัพย์จำนองแล้ว
ฐานะของผู้ยืมตามกฎหมาย(สัญญายืม)