ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




สัญญาจำนองยกเว้นให้เจ้าหนี้ยึดทรัพย์สินอื่นได้

สัญญาจำนองยกเว้นให้เจ้าหนี้ยึดทรัพย์สินอื่นได้

กฎหมายกำหนดไว้ว่า ถ้าได้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ไม่พอ ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดอยู่ แต่ไม่ตัดสิทธิคู่สัญญาที่จะทำสัญญายกเว้นข้อกฎหมายดังกล่าวนี้ได้ ในคดีนี้ เจ้าหนี้ไม่ได้ระบุในข้อสัญญาว่าลูกหนี้จะต้องรับผิดในเงินที่ขาดจำนวนอยู่ภายหลังขายทอดตลาด ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิด  อีกทั้งในคำพิพากษาของศาลมิได้ระบุให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีก การที่พนักงานบังคับคดีปฏิเสธที่จะยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ให้กับโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2551

ป.พ.พ. มาตรา 733 ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จึงใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลหนึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระด้วย

          ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่จำเลยทั้งสองทำไว้กับโจทก์ไม่มีข้อตกลงยกเว้นไว้ว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในเงินที่ขาดจำนวนอยู่ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาเพียงว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โดยมิได้ระบุให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นอีก ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้นำยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดเสร็จสิ้นไปแล้ว แม้จะได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จะขอให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อไปอีกไม่ได้

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้เงิน และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำนอง ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,317,744 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,171,328 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 80489 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 80489 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดเสร็จสิ้นแล้ว

          โจทก์ยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการให้อ้างว่าคำพิพากษาไม่ได้ระบุว่าหากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ยังมีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้โดยอาศัยอำนาจแห่งมูลหนี้เพราะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในเรื่องสัญญากู้ยืมด้วย ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาหรือหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ในเวลาที่กำหนด คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ยกคำร้องค่าคำร้องให้เป็นพับ

          โจทก์ยื่นคำร้องอีกฉบับหนึ่งว่า คำร้องเดิมของโจทก์ที่ขอให้สั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เป็นคำร้องที่ยื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 วรรคสอง คัดค้านการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว คำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน จึงขอให้มีคำสั่งชี้ขาดว่าโจทก์มีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ต่อไปได้หรือไม่ หากเห็นว่าโจทก์มีสิทธิดังกล่าว ก็ขอให้สั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ยกคำร้องค่าคำร้องให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
             ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว

          ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์นั้นชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 นำออกขายทอดตลาดต่อไป แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการให้อ้างว่าคำพิพากษาไม่ได้ระบุว่าหากไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงยื่นคำร้องฉบับแรกขอให้ศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยอ้างว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาหรือขอให้พิจารณาคดีใหม่และคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องอีกฉบับหนึ่งขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ตรงกับปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ต่อไปได้หรือไม่ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยอ้างว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 บัญญัติว่า "...ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น" บทกฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อจำกัดว่าต้องใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จึงย่อมใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลหนึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระด้วย คดีนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่จำเลยทั้งสองทำไว้กับโจทก์ไม่มีข้อตกลงยกเว้นไว้ว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในเงินที่ขาดจำนวนอยู่ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาเพียงว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โดยมิได้ระบุให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นอีก ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้นำยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดเสร็จสิ้นไปแล้ว แม้จะได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จะขอให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อไปอีกหาได้ไม่ ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลในขณะยื่นคำฟ้องมาในอัตราใดดังที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

หมายเหตุ 
          การฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่กู้ยืมแก่โจทก์ โจทก์เพียงแต่มีคำขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ ไม่ต้องมีคำขอว่าหากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินอะไรออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดี โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะรวบรวมเงินให้พอชำระตามคำพิพากษาโดยวิธียึดหรืออายัดและขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้โดยสินเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 โดยจะเป็นทรัพย์สินใด ๆ ที่เป็นของจำเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สินที่ระบุไว้ในคำพิพากษา แต่ถ้าเป็นการฟ้องบังคับจำนองต้องมีคำขอให้ศาลสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 จึงต้องระบุทรัพย์สินจำนองที่จะถูกยึดมาในคำขอท้ายฟ้องและคำพิพากษาของศาลต้องระบุให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดไว้ด้วย

           คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง ซึ่งในส่วนของคำขอให้ชำระหนี้เงินกู้ไม่ต้องระบุทรัพย์สินที่จะยึดในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษาเป็นการถูกต้องแล้ว แต่เนื่องจากเป็นกรณีที่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ซึ่งหากมีการบังคับจำนองแล้ว ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินจำนวนที่ขาด (คำพิพากษาฎีกาที่ 3535/2550) ประชุมใหญ่) จึงควรมีคำวินิจฉัยและพิพากษาไว้ด้วยว่า หากยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินจำนวนที่ขาด โจทก์จะได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนที่ขาดไม่ได้ กรณีเช่นนี้ยังมีปัญหาอีกว่า ถ้าโจทก์จะไม่ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดก่อน โดยยึดแต่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ จะอ้างมาตรา 733 ไม่ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ ในข้อนี้เมื่อโจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ก็ได้ ถ้ายึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดก่อน หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ยังมีสิทธิยึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาด หรือจะยึดทั้งทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และทรัพย์สินจำนองของจำเลยไปพร้อมกัน ถ้าขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่พอชำระหนี้ทั้งหมด ก็ย่อมทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ต่อไปได้ แต่ถ้าขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 2 ก่อนได้เงินไม่พอชำระหนี้ทั้งหมด ย่อมจะขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อไปไม่ได้

           แต่ศาลจะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด โดยอ้างเหตุผลตามมาตรา 733 คงไม่ได้                   

          ไพโรจน์ วายุภาพ




ยืม ค้ำประกัน จำนำ จำนอง

เงินฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร
สิทธิการเช่า-จำนำไม่ได้
สิ่งปลูกสร้างเป็นส่วนควบของที่ดินที่จำนอง
ยึดโฉนดที่ดินเป็นประกันเงินกู้ยืม
สัญญาเงินกู้ไม่มีมูลหนี้ที่ต้องรับผิด
จดทะเบียนภาระจำยอมกับทรัพย์จำนองแล้ว
ฐานะของผู้ยืมตามกฎหมาย(สัญญายืม)
สามีภริยาเปิดบัญชีเงินฝากรวมกัน, การเบิกถอนเงิน