

สัญญาเงินกู้ไม่มีมูลหนี้ที่ต้องรับผิด สัญญาเงินกู้ไม่มีมูลหนี้ที่ต้องรับผิด ลูกหนี้ทำสัญญาจำนองที่ดินเงินต้น 400,000 บาท ต่อมาเจ้าหนี้นำเงินต้นดังกล่าวมาบวกดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือนมาทำสัญญาเงินกู้ยืม 1,506,995 บาท ซึ่งเป็นมูลหนี้เดียวกัน ต่อมาเจ้าหนี้รายอื่นได้ยึดที่ดินติดจำนองรายนี้ออกขายทอดตลาดและเจ้าหนี้ได้มีการขึ้นเงินจำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดแล้ว แต่เจ้าหนี้กลับนำสัญญากู้ยืมเงินมาฟ้องลูกหนี้นี้อีก จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินไม่มีมูลหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดเพราะเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ที่ลูกหนี้ได้จำนองไว้อยู่แล้วก่อนเจ้าหนี้รายอื่นจากการขายทอดตลาด คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9189/2552 เจ้าหนี้อื่นนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นตามคำขอของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นได้อยู่แล้ว เมื่อจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์อีกนอกจากหนี้จำนองดังกล่าว การที่โจทก์กลับนำเอาหนี้จำนองนั้นมาให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอีกโดยบวกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่จะเรียกได้ตามกฎหมาย อันทำให้ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดตกเป็นโมฆะโดยจำเลยมิได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,714,206 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,506,995 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าสัญญากู้ยืมเงินมีมูลหนี้ที่โจทก์จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำนวนเงินต้น 400,000 บาท ที่โจทก์นำมาบวกกับดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นเงินกู้จำนวน 1,506,995 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินนั้น คือ เงินจำนองที่จำเลยยังค้างชำระแก่โจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินซึ่งต่อมาได้มีการขึ้นเงินจำนองตามสำเนาบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 486/2545 ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นตามคำขอของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นได้อยู่แล้ว เมื่อจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์อีกนอกจากหนี้จำนองดังกล่าว การที่โจทก์กลับนำเอาหนี้จำนองนั้นมาให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอีก โดยบวกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่จะเรียกได้ตามกฎหมาย อันทำให้ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดตกเป็นโมฆะโดยจำเลยมิได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการบังคับให้จำเลยชำระหนี้จำนวนเดียวกับที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่นจากการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวและคดีถึงที่สุดไปแล้ว ฎีกาจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.
|