ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




อายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลวิกลจริต

อายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

โจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีแทน ว. (บุคคลวิกลจริต)ได้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลตั้งให้โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. เสียก่อน การนับอายุความให้อายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าจะครบกำหนดลงในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลวิกลจริตไม่มีผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้มีผู้อนุบาล คดีนี้เมื่อนับระยะเวลานับแต่โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. ตามคำสั่งถึงวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมยังไม่ครบหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล ว. คดีของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2159/2556

          จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมขับรถบรรทุกหกล้อถอยหลังด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ว. ขับ เป็นเหตุให้ ว. ทุพพลภาพพิการตลอดชีวิต ความรู้สึกตัวและความจำไม่ปกติไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ว. จึงเป็นคนไร้ความสามารถไม่สามารถฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ ต้องอยู่ในความอนุบาลและให้ผู้อนุบาลดำเนินคดีแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรถบรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีแทน ว. ได้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลตั้งให้โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. เสียก่อน กรณีเช่นนี้การนับอายุความจึงต้องนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/20 ที่บัญญัติให้อายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าจะครบกำหนดลงในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้มีผู้อนุบาล แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้กำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว ซึ่งคดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวแล้ว โจทก์ยังฟ้องในฐานะเป็นผู้อนุบาลของ ว. ด้วย เมื่อนับระยะเวลานับแต่โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. ตามคำสั่งศาลวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จึงครบอายุความหนึ่งปีในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมวันที่ 29 มีนาคม 2545 จึงยังไม่ครบหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล ว. คดีของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ
 
          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 4,011.075.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,753,053 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
            ก่อนจำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การ โจทก์บอกกล่าวถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

          ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด เข็มทองผลิตภัณฑ์คอนกรีต เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าเป็นผู้ที่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
          จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง

            ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 1,498,053 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับการยกเว้นให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาให้จำเลยที่ 1 ชำระต่อศาลในนามของโจทก์ และให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมให้เป็นพับ

          โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้อนุบาลของนายวีรพงศ์ ตามคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องขณะนายวีรพงศ์ขับรถจักรยานยนต์มาตามถนนสวนผักมุ่งหน้าสู่ถนนทุ่งมังกรได้มีจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมขับรถยนต์บรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 90-8793 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยร่วมถอยหลังเข้าโรงงานเสาเข็มด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่นายวีรพงศ์ขับเป็นเหตุให้นายวีรพงศ์ได้รับอันตรายสาหัส กะโหลกศีรษะร้าว กระดูกคอหัก ต้องทุพพลภาพและพิการตลอดชีวิต

          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่เถียงกันฟังได้ว่า หลังเกิดเหตุละเมิดนายวีรพงศ์ ทุพพลภาพพิการตลอดชีวิต ความรู้สึกตัวและความจำไม่ปกติ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นายวีรพงศ์จึงเป็นคนไร้ความสามารถไม่สามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้ ต้องอยู่ในความอนุบาลและให้ผู้อนุบาลดำเนินคดีแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคหนึ่ง และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าโจทก์ได้ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถจะดำเนินคดีแทนนายวีรพงศ์ได้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลตั้งให้โจทก์เป็นผู้อนุบาลของนายวีรพงศ์เสียก่อน กรณีเช่นนี้การนับอายุความจึงต้องนับตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/20 ที่บัญญัติว่า “อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์หรือของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ก็ตาม ถ้าจะครบกำหนดลงในขณะที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้กำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว” ซึ่งคดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวแล้วโจทก์ยังฟ้องในฐานะเป็นผู้อนุบาลของนายวีรพงศ์ด้วย เมื่อนับระยะเวลานับแต่โจทก์เป็นผู้อนุบาลของนายวีรพงศ์ตามคำสั่งศาล วันที่ 21 สิงหาคม 2544 จึงครบอายุความหนึ่งปีในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด เข็มทองผลิตภัณฑ์คอนกรีต เข้ามาเป็นจำเลยร่วมวันที่ 29 มีนาคม 2545 จึงยังไม่ครบหนึ่งปี นับแต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาลนายวีรพงศ์ คดีของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

            พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วม ร่วมกันชำระเงิน 1,498,053 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิด (วันที่ 1 ธันวาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในศาลชั้นต้นด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง

มาตรา 56  ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ทำการแทนจะเสนอข้อหาต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถและตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ การให้อนุญาตหรือยินยอมตามบทบัญญัติเช่นว่านั้น ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนความ
ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษาเมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจทำการสอบสวนในเรื่องความสามารถของผู้ขอหรือของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง และถ้าเป็นที่พอใจว่ามีการบกพร่องในเรื่องความสามารถ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดให้แก้ไขข้อบกพร่องนั้นเสียให้บริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาอันสมควรที่ศาลจะสั่ง
ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อความยุติธรรมไม่ควรให้กระบวนพิจารณาดำเนินเนิ่นช้าไป ศาลจะสั่งให้คู่ความฝ่ายที่บกพร่องในเรื่องความสามารถนั้นดำเนินคดีไปก่อนชั่วคราวก็ได้ แต่ห้ามมิให้ศาลพิพากษาในประเด็นแห่งคดีจนกว่าข้อบกพร่องนั้นได้แก้ไขโดยบริบูรณ์แล้ว
ถ้าผู้ไร้ความสามารถไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนโดยชอบธรรมทำหน้าที่ไม่ได้ ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้อนุญาตหรือให้ความยินยอมตามที่ต้องการ หรือตั้งผู้แทนเฉพาะคดีนั้นให้แก่ผู้ไร้ความสามารถ ถ้าไม่มีบุคคลอื่นใดให้ศาลมีอำนาจตั้งพนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองอื่นให้เป็นผู้แทนได้

ป.พ.พ. มาตรา 193/20

มาตรา 193/20  อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์หรือของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ก็ตาม ถ้าจะครบกำหนดลงในขณะที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ หรือในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี  แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้นำกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว




หนี้ละเมิด

ฟ้องหมิ่นประมาทศาลยกฟ้องไม่ถือเป็นการกระทำละเมิด
นายจ้างเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้ทำละเมิดลูกจ้าง
เหตุแทรกแซงที่วิญญูชนคาดหมายได้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
เริ่มนับอายุความหนี้ละเมิด article