ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรเกิดหน้าที่แก่บิดา

ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรเกิดหน้าที่แก่บิดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่6996-6997/2550 เมื่อศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรแล้ว หน้าที่ของบิดาก็เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายคือหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ นอกจากนั้นเกิดสิทธิในการใช้อำนาจปกครองด้วยซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะกำหนดที่อยู่ของบุตรได้ด้วย ในคดีนี้ สามีฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้เด็กหญิง ญ. (บุตรนอกกฎหมาย)เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตน และขอให้ตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร  และอุปการะเลี้ยงดู ส่วนภริยา(นอกกฎหมาย)ฟ้องแย้งขอให้บิดา(สามี)เด็กจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง  การฟ้องแย้งดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวเนื่องจากฟ้องของโจทก์ที่ขอให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั่งเอง ศาลฎีกาเห็นว่าการฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเสียก่อนจึงจะมาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาเด็กในภายหลังเป็นการเสียเวลา

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่6996-6997/2550

  คำฟ้องของโจทก์มีคำขอท้ายฟ้อง 2 ประการ คือ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนรับเด็กหญิง ญ. จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์มีอำนาจปกครอง อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวเนื่องจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่งเอง สมควรที่จะได้วินิจฉัยให้เสร็จไปในคราวเดียวกันไม่เยิ่นเย้อที่จะต้องรอให้คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จนคำพิพากษาถึงที่สุดเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงจะมาฟ้องขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลัง กรณีถือได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

          โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ และให้โจทก์มีอำนาจปกครอง อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2

          จำเลยทั้งสองให้การ แก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง หากศาลพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมจำเลยที่ 2 ขอฟ้องแย้งให้บังคับโจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยที่ 2 จะบรรลุนิติภาวะและจบการศึกษาจนสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ และกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ของจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ต้องชำระทุกปีด้วย

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข จึงไม่รับฟ้องแย้ง
          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง

          ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ที่แท้จริง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งงดการชี้สองสถานและงดการสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสอง โดยเห็นว่าสามารถวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยาน

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ ให้โจทก์จดทะเบียนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดชี้สองสถานและงดการสืบพยานกับอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่งดการชี้สองสถานและงดการสืบพยาน กับยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากการรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม หรือไม่ ได้ความว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มีคำขอท้ายฟ้อง 2 ประการ คือ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนรับเด็กหญิง ญ. จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์มีอำนาจปกครอง อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวเนื่องจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง สมควรที่จะได้วินิจฉัยให้เสร็จไปในคราวเดียวกันไม่เยิ่นเย้อที่จะต้องรอให้คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จนคำพิพากษาถึงที่สุดเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงจะมาฟ้องขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลัง กรณีถือได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า กรณีมีเหตุสมควรยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่หรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองได้ยกประเด็นขึ้นต่อสู้ว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและโจทก์ไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยที่ 2 ไว้ด้วย ซึ่งการที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ และโจทก์สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยที่ 2 หรือไม่ จำเป็นต้องมีการสืบพยานให้ได้ความ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 แถลงรับว่าโจทก์เป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ที่แท้จริงแล้ว คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานจึงมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานและพิพากษาคดีไปเสียทีเดียวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ อีกทั้งยังมีประเด็นพิพาทตามคำฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเพิ่มเติมขึ้นมาอีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่งดชี้สองสถานและงดสืบพยานกับยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากการรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

          พิพากษายืน

 หมายเหตุ 

    การฟ้องแย้งต้องดูสิทธิตามกฎหมายสารบัญญัติประกอบด้วย กล่าวคือ จำเลยที่ฟ้องแย้งต้องมีสิทธิในการฟ้องบริบูรณ์ขณะฟ้องแย้ง ทั้งฟ้องแย้งต้องไม่มีเงื่อนไข หากฟ้องแย้งมีเงื่อนไขก็จะเป็นฟ้องที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม โดยจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยมีสิทธิชนะคดีอย่างไร หากจำเลยชนะคดีข้อต่อสู้ตามฟ้องแย้งก็ตกไป ศาลไม่ต้องพิจารณาตามฟ้องแย้ง แต่หากศาลฟังข้อเท็จจริงไปตามฟ้องของโจทก์แล้วพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จึงจะขอให้ศาลพิพากษาตามฟ้องแย้ง เช่นนี้เป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขไม่ชอบที่ศาลจะรับไว้พิจารณา         

 วรพจน์ วัชรางค์กุล

 การที่เด็กซึ่งเกิดจากบิดาที่มิได้สมรสกันได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาไม่ว่าจะโดยการที่บิดามารดาสมรสกันในภายหลัง หรือบิดาจดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 แต่เดิมมิได้มีผลทำให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาตั้งแต่วันที่เด็กเกิด หากแต่มีผลนับแต่วันที่บิดามารดาสมรสกัน หรือวันที่บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร หรือวันมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่กรณี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 เด็กจึงมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาตั้งแต่วันที่ตนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา หามีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังไปถึงวันที่เด็กเกิดไม่ เพราะขณะนั้นเด็กยังไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564

  ปัจจุบันมีการแก้ไขมาตรา 1557 โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 มีนาคม 2551) มาตรา 6 ให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้ จากหลักการที่แก้ไขใหม่นี้ ทำให้บุตรนอกกฎหมายที่ต่อมาได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาตามมาตรา 1547 มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาย้อนหลังไปจนถึงวันเกิด ทั้งนี้ ชายผู้เป็นบิดาไม่อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะยกความสุจริตขึ้นต่อสู้ตามมาตรา 1557

  สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์

 มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร             




ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร