ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากตัวแทน

ตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากตัวแทน

ตัวการให้ตัวแทนเป็นผู้รับจำนองที่ดินแทน เนื่องจากตัวการมีกิจการหลายแห่งไม่มีเวลาพอ เมื่อตัวแทนรับจำนองกับบุคคลภายนอกแล้วได้นำโฉนดที่ดินมาเก็บไว้กับตัวการ และมอบหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไว้แก่ตัวการเพื่อความสะดวกในการไถ่ถอนจำนองในเวลาที่ตัวแทนไม่อยู่ ต่อมาผู้จำนองมาขอไถ่ถอนจำนองกับตัวแทน ๆ รับเงินไว้ไม่คืนให้แก่ตัวการ กรณีแม้การตั้งตัวแทนจะไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ไม่ขัดต่อกฎหมาย

กฎหมายกำหนดให้การตั้งตัวแทนไปทำนิติกรรมที่มีกฎหมายบัญญัติบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ก็เป็นเรื่องหลักเกณฑ์การตั้งตัวแทนเพื่อให้นิติสัมพันธ์ระหว่างตัวการกับบุคคลภายนอกสมบูรณ์เท่านั้น ส่งผลให้บุคคลภายนอกและตัวการบังคับกันได้ตามนิติกรรมที่ตัวแทนทำไป สำหรับนิติสัมพันธ์ระหว่างตัวการกับตัวแทนด้วยกัน ไม่มีกฎหมายบังคับให้ตัวการกับตัวแทนต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนังสือ การที่ตัวการฟ้องบังคับให้ตัวแทนคืนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาจากการเป็นตัวแทน จึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวการกับตัวแทนไม่เกี่ยวกับสัญญาจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3497/2551

          โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดิน ต่อมาโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 แม้การตั้งตัวแทนจะไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง

          ส่วนการที่โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยให้เห็นถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าจำเลยเป็นเพียงผู้รับจำนองแทนโจทก์ก็หาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินไม่ ไม่ต้องด้วยข้อห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยร่วมทำธุรกิจด้วยกัน โดยแบ่งหน้าที่กันทำด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจตลอดมา โจทก์เป็นผู้ลงทุนและวางแผนการบริหาร จำเลยเป็นผู้ช่วยเหลือดำเนินการซึ่งจะให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นครั้งคราว นายไพโรจน์มาติดต่อขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ 115,000 บาท โดยนำที่ดินพิพาทมาจดทะเบียนจำนองเฉพาะส่วนเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน โจทก์มอบให้จำเลยเป็นผู้ใส่ชื่อจดทะเบียนรับจำนองแทนโจทก์และให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินโดยจำเลยและนายไพโรจน์ทราบและยินยอม นายไพโรจน์ได้รับเงินจากโจทก์ครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา จำเลยได้นำสัญญาจำนองให้โจทก์ยึดถือไว้ ที่ดินในส่วนที่จดทะเบียนจำนองได้แบ่งแยกออกมาเป็นที่ดิน โฉนดเลขที่ 184602 จำเลยรับมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวจากนายไพโรจน์แล้วนำมอบให้โจทก์ยึดถือไว้ ต่อมาจำเลยได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าต้นฉบับโฉนดเลขที่ 184602 และสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวสูญหาย เพื่อขอออกใบแทนต้นฉบับ การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อ จึงได้ออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่นายไพโรจน์ ต่อมาจำเลยโดยทุจริตได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่  184602 ให้แก่นายไพโรจน์พร้อมรับเงินค่าไถ่ถอนจำนองจำนวน 319,125 บาท และได้เบียดบังไปเป็นประโยชน์ของจำเลยโดยไม่คืนโจทก์ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 468,714.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 319,125 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ร่วมทำธุรกิจหรือเป็นลูกจ้างตัวแทนหรือผู้ช่วยเหลือในการดำเนินการของโจทก์ และไม่เคยได้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ใดในทางทรัพย์สินจากโจทก์ ทั้งไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดกับโจทก์ นายไพโรจน์ไม่ได้กู้เงินจากโจทก์และไม่ได้ตกลงให้นำที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนจำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกัน โจทก์ไม่เคยแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้แทนในการรับจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นหนังสือ จำเลยไม่เคยส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ยึดถือไว้ในฐานะตัวการจำเลยยอมรับว่าได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศจริงแต่ไม่ได้เป็นการแจ้งความเท็จ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระโขนงเป็นคดีอาญา ในข้อหาความผิดต่อเจ้าพนักงาน ยักยอก ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 184602 ไว้แทนโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยรับเงินที่ผู้จำนองนำมาชำระเพื่อไถ่ถอนจำนองโดยไม่ส่งมอบให้โจทก์จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ส่วนข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับจำนองหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จำนอง โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันในคดีอาญาได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์คืน ซึ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามารับฟังในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง  จำเลยกับโจทก์ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยไม่ได้กระทำการใดให้โจทก์ได้รับความเสียหายและโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกู้เงินของนายไพโรจน์ ทั้งนายไพโรจน์ไม่ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 184602 เป็นประกันไว้แก่โจทก์ และจำเลยไม่ได้รับจำนองที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างการพิจารณา คู่ความแถลงรับกันว่า จำเลยลงลายมือชื่อรับจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนายไพโรจน์  ต่อมาที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวแบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 184602 จำเลยในฐานะผู้ครอบครองโฉนดที่ดินที่รับจำนองไว้ได้ไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลประเวศ ว่าโฉนดเลขที่ 184602 สูญหาย จากนั้นจำเลยได้นำหลักฐานการแจ้งความไปแสดงและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 ว่าโฉนดเลขที่ 184602 สูญหายไป เจ้าพนักงานที่ดินจึงออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน วันที่ 2 กันยายน 2536 จำเลยรับจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่นายไพโรจน์และรับเงินชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากนายไพโรจน์แล้ว

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 319,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นวันฟ้องจะต้องไม่เกิน 149,589.81 บาท ตามฟ้อง กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2524 จำเลยลงลายมือชื่อรับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนของนายไพโรจน์  ต่อมาที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวแบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 184602 วันที่ 22 มิถุนายน 2536 จำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลประเวศ ว่าโฉนดเลขที่ 184602 สูญหายตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี วันที่ 24 มิถุนายน 2536 จำเลยได้นำหลักฐานการแจ้งความดังกล่าวไปแสดงและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศ ว่าโฉนดเลขที่ 184602 ได้สูญหายไป ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย ตามสำเนาคำขอใบแทนโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจึงออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน วันที่ 2 กันยายน 2536 นายไพโรจน์นำต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 319,125 บาท ไปมอบให้จำเลยเพื่อไถ่ถอนจำนอง จำเลยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวและจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่นายไพโรจน์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เงินที่นายไพโรจน์กู้ตามสัญญาจำนองเป็นเงินของโจทก์หรือไม่ ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า เมื่อกลางปี 2524 นายบุญวงศ์แจ้งโจทก์ว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 และเนื้อที่ประมาณ 28 ไร่ ตำบลคลองประเวศฝั่งใต้ อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ใกล้ถึงเวลาโอนนายบุญวงศ์ขอให้โจทก์ช่วยเหลือ โจทก์ให้นำหลังโฉนดเลขที่ 44202 มาให้ดู โจทก์ได้ไปตรวจสอบที่ดินดังกล่าวแล้วเห็นว่าเป็นที่ดินที่น่าลงทุน จึงร่วมกับเพื่อนจะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว และได้ทำแผนผังแบ่งที่ดินออกเป็นแปลงย่อยรวม 25 แปลง โจทก์ให้ผู้สนใจจองที่ดินตามแผนผังดังกล่าว แต่ไม่สามารถจองครบทั้ง 25 แปลง โจทก์จึงรับซื้อแปลงที่ 1 ถึง 3 และแปลงที่ 20 ถึง 25 ต่อมานายไพโรจน์ได้ติดต่อขอซื้อสิทธิการจองที่ดินแปลงที่ 1 ถึง 3 เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ขณะนั้นโจทก์ขายราคาตารางวาละ 500 บาท นายไพโรจน์ขาดเงินอยู่ประมาณ 115,000 บาท จึงขอยืมจากโจทก์ โดยตกลงกันว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวมาจำนองไว้เป็นประกัน โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี วันที่ 2 พฤศจิกายน 2524 หลวงยุทธสารประสิทธิ์โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 ให้แก่ผู้จองซื้อ 8 คน ซึ่งมีชื่อนายไพโรจน์ด้วย วันเดียวกันนั้นนายไพโรจน์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินในส่วนของตนให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ว่างจึงขอให้จำเลยไปแทน และตกลงให้นายไพโรจน์ใส่ชื่อผู้รับจำนองเป็นชื่อจำเลยแทนชื่อโจทก์ หลังจากจดทะเบียนจำนองที่ดินแล้วนายสุเทพทำหนังสือค้ำประกันหนี้ของนายไพโรจน์ต่อโจทก์ ตามสำเนาหนังสือค้ำประกัน เหตุที่โจทก์ให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อรับจำนองแทน เนื่องจากโจทก์มีธุรกิจประมาณ 10 บริษัท ไม่มีเวลาดำเนินการรับจำนอง จึงให้จำเลยซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของโจทก์รับจำนองแทน ปู่ของโจทก์และปู่ของบิดาจำเลยเป็นคนเดียวกัน บิดาจำเลยนำจำเลยและน้องชายมาฝากโจทก์เพื่อให้ทำงานที่ร้านของโจทก์ปี 2522 โจทก์รับจำเลยทำงานในตำแหน่งเสมืยนหน้าร้าน และให้น้องชายจำเลยทำงานขนผ้าและเก็บเงินจากลูกค้า จำเลยเป็นคนขยันขันแข็งเชื่อใจได้ ทำให้โจทก์เชื่อถือไว้วางใจจำเลย และให้จำเลยช่วยทำงานในเรื่องเกี่ยวกับการขายฝากที่ดิน รับจำนองที่ดินแทนโจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เมื่อได้ผลกำไรโจทก์จะแบ่งส่วนกำไรให้จำเลยด้วยเมื่อมีการดำเนินการซื้อขาย ขายฝาก รับจำนองที่ดินตลอดมา โจทก์ยิ่งมีความไว้วางใจจำเลยมากขึ้น จนกระทั่งยอมให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อรับจำนองแทนโจทก์ กับใส่ชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนโจทก์ประมาณ 10 แปลง ซึ่งรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 นี้ด้วย ภายหลังที่นายไพโรจน์จดทะเบียนจำนองที่ดินโดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้รับจำนองแทนโจทก์แล้ว จำเลยได้นำต้นฉบับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนมามอบให้แก่โจทก์ตามสำเนาสัญญาหนังสือจำนองที่ดินเฉพาะส่วน ต่อมาได้มีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 ในส่วนของนายไพโรจน์เป็นโฉนดเลขที่ 184602 ตำบลประเวศ อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาโฉนดที่ดินต้นฉบับอยู่ที่ศาลแขวงพระโขนง หลังจากมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าว จำเลยได้นำโฉนดเลขที่ 184602 มามอบให้โจทก์เช่นเดียวกับการรับจำนองที่ดินรายอื่น เมื่อมีการส่งมอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์ให้จำเลยนำแบบหนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดินพร้อมให้จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน โดยให้จำเลยลงลายมือชื่อรับรองเอกสารดังกล่าวมอบให้โจทก์ไว้ เหตุที่โจทก์ให้จำเลยนำหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านมามอบให้แก่โจทก์ไว้เนื่องจากหากจำเลยไม่อยู่และเมื่อลูกหนี้ต้องการไถ่ถอนจำนองจะได้ดำเนินการให้ลูกหนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องรอจำเลย ประมาณปี 2527 เศรษฐกิจของประเทศไม่ดี ธุรกิจของโจทก์หลายแห่งขาดทุน โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งคดีแพ่งและอาญาหลายคดี โจทก์ได้ฟ้องลูกหนี้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาด้วยหลายคดี โจทก์ให้จำเลยนำโฉนดที่ดินแปลงอื่นที่จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนโจทก์นำไปแบ่งแยกเพื่อนำไปขายชำระหนี้และนำไปเป็นหลักประกันในการประกันตัวโจทก์ในคดีอาญา แต่เมื่อให้จำเลยนำไปแบ่งแยกแล้วโจทก์ไม่พบจำเลยอีก โจทก์จึงนำที่ดินที่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ออกขายนำเงินมาชำระหนี้และนำไปเป็นหลักประกันการประกันตัวต่อศาลแทนขณะนั้นโจทก์ฟ้องบุคคลอื่นทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาประมาณ 100 คดี ต้องเดินทางไปศาลทุกวัน ทำให้ไม่มีเวลาติดตามจำเลย เมื่อคดีเริ่มตกลงกันได้โจทก์จึงติดตามหาจำเลยแต่ไม่พบ จนกระทั่งปี 2537 โจทก์พบจำเลยที่สำเพ็ง กรุงเทพมหานคร โจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยรับปากว่าจะคืนให้ แต่จำเลยไม่ยอมคืน โจทก์ตรวจสอบพบว่ามีการโอนที่ดินขายต่อให้แก่บุคคลอื่น และมีที่ดินที่มีชื่อจำเลยเป็นผู้รับจำนองและได้มีการไถ่ถอนจำนองไปแล้วจำนวนหลายแปลงรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 184602 ด้วย และโจทก์มีนายไพโรจน์กับนายสุเทพมาเบิกความสนับสนุนว่า เดิมพยานทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 ต่อมาได้ขายให้แก่หลวงยุทธสารประสิทธิ์ นายไพโรจน์เป็นนายหน้าขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายบุญวงศ์ ไม่ทราบนามสกุล ไปจัดสรรขาย โจทก์ได้จองซื้อที่ดินแปลงที่ 1 ถึงที่ 3 นายไพโรจน์ได้ติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงที่ 1 ถึงที่ 3 จากโจทก์ แต่ยังขาดเงินอีก 100,000 บาทเศษ จึงนำที่ดินแปลงที่ 1 ถึงที่ 3 จดทะเบียนจำนองไว้ ในวันจดทะเบียนมีจำเลยเป็นผู้จดทะเบียนรับจำนองแทน ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวมีนายสุเทพเป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกัน หลังจากจดทะเบียนจำนองแล้ว บริษัทได้เลิกกิจการนายไพโรจน์ไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้จึงปรึกษาทนายความและนายสุเทพได้รับการแนะนำให้โจทก์นำเงินค่าไถ่ถอนที่ดินไปวางทรัพย์ แต่ยังไม่ทันดำเนินการ  จำเลยได้มาติดต่อเพื่อให้ไถ่ถอนจำนอง นายไพโรจน์และจำเลยได้ไปที่สำนักงานที่ดินแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากโฉนดที่ดินสูญหาย จำเลยได้ไปแจ้งความว่าโฉนดที่ดินสูญหาย โดยนายไพโรจน์ไปด้วยในฐานะเจ้าของโฉนดที่ดิน ในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน นายไพโรจน์ไม่รู้จักจำเลย และไม่เคยกู้ยืมเงินจากจำเลย ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยเพียงปากเดียวเบิกความว่า จำเลยเป็นผู้ให้นายไพโรจน์กู้ยืมเงิน 115,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นายไพโรจน์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ ในการทำสัญญาจำนอง จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับจำนอง นายไพโรจน์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้จำนอง โจทก์ไม่ได้มาเกี่ยวข้องในสัญญาแต่อย่างใดจำเลยรับจำนองในนามของตนเอง ภายหลังทำสัญญานายไพโรจน์ได้นำเงินมาชำระดอกเบี้ยบางส่วน ปี 2536 นายไพโรจน์มาพบจำเลยที่บ้านเพื่อขอไถ่ถอนจำนอง  ขณะนั้นจำเลยหาหนังสือสัญญาจำนองพร้อมโฉนดที่ดินไม่พบ นายไพโรจน์ได้พาจำเลยไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดิน เจ้าหน้าที่แนะนำจำเลยให้ไปแจ้งความ หลังจากนั้นนายไพโรจน์ได้นำหลักฐานการแจ้งความไปที่กรมที่ดินพร้อมกับจำเลยเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดิน คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ศาลแขวงพระโขนงนั้น ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้องโจกท์ โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้รับจำนองแทนโจทก์ และโจทก์ไม่ใช่ผู้รับจำนอง คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ตามสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงพระโขนง ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน มิใช่ลายมือชื่อของจำเลย เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันถึงที่มาของที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 และ 184602 กับสาเหตุที่นายไพโรจน์ต้องขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ซึ่งนายไพโรจน์มาเบิกความยืนยันว่าได้กู้ยืมเงินจากโจทก์มิได้กู้ยืมเงินจากจำเลย  ส่วนพยานจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความเพียงลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนแม้ในการรับจำนองที่ดิน โจทก์จะมิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปดำเนินการแทน หรือมิได้ระบุในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนว่าจำเลยเป็นผู้รับจำนองแทนโจทก์ก็ตาม ก็ไม่ได้เป็นข้อพิรุธหรือรับฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ ถ้าจำเลยเป็นผู้ให้นายไพโรจน์กู้ยืมเงินจริง เหตุใดหลังจากจำเลยดำเนินการรับจำนองที่ดินจากนายไพโรจน์แล้วจำเลยจะต้องนำต้นฉบับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนและต้นฉบับโฉนดเลขที่ 184602 ไปมอบให้โจทก์ไว้ ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของคนทั่วไปยิ่งนัก การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยรับจำนองที่ดินในฐานะตัวแทนของโจทก์ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่การงานและรายได้ของจำเลยขณะที่รับจำนองที่ดินแล้วเห็นได้ว่า จำเลยมีอายุเพียง 23 ปี เพิ่งจะทำงานที่บริษัทนานยางธนาการเครดิต จำกัด มีรายได้เดือนละ 3,500 บาท ตามรายจ่ายเงินเดือนและค่าใช้จ่าย ลำพังรายได้จากเงินเดือนประจำของจำเลยดังกล่าวเพียงอย่างเดียว จำเลยคงจะไม่สามารถนำเงินไปให้นายไพโรจน์กู้ยืมได้ที่จำเลยอ้างว่านอกจากเงินเดือนประจำแล้ว ยังมีรายได้จากการนำเงินไปลงทุนค้าขายฝากไว้ที่บริษัทได้ดอกเบี้ย เล่นแชร์ และนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์นั้น เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอยๆ จำเลยมิได้มีพยานหลักฐานมานำสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นจริงดังที่จำเลยกล่างอ้าง นอกจากนี้หลังจากที่จำเลยรับจำนองที่ดินจากนายไพโรจน์และได้มอบต้นฉบับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนกับต้นฉบับโฉนดเลขที่ 184602 ให้โจทก์แล้วจำเลยยังได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยให้แก่โจทก์ไว้ด้วย ซึ่งโจทก์ได้เบิกความถึงสาเหตุที่ให้จำเลยนำเอกสารดังกล่าวมามอบให้โจทก์ไว้ว่า หากจำเลยไม่อยู่และทางลูกหนี้ต้องการไถ่ถอนจำนอง โจทก์จะได้ดำเนินการให้ลูกหนี้ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอจำเลย และสาเหตุที่โจทก์ให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับจำนองแทนเนื่องจากโจทก์ประกอบธุรกิจหลายอย่างไม่มีเวลาดำเนินการรับจำนอง ประกอบกับจำเลยมีศักดิ์เป็นหลานโจทก์ จำเลยเป็นผู้ที่ทำงานขยันขันแข็งเชื่อใจได้ ทำให้โจทก์เชื่อถือไว้วางใจจำเลยจนกระทั่งยอมให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับจำนองแทนโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยรับจำนองแทนมาแสดงนั้น เห็นว่าคดีนี้เป็นเรื่องพิพาทระหว่างโจทก์ตัวการกับจำเลยตัวแทนโดยโจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดิน และโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ อันเป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 แม้ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้โดยไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคสอง และที่จำเลยฎีกาว่า ลายมือชื่อในเอกสารมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยนั้นก็เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอยๆ หากจำเลยเชื่อว่ามิใช่ลายมือชื่อของจำเลยจริง จำเลยก็น่าจะขอให้ศาลส่งลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อของจำเลยในเอกสารอื่น แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ และเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อของจำเลยในเอกสารกับลายมือชื่อของจำเลยในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินแล้วจะเห็นว่ามีส่วนคล้ายกัน เชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินที่นายไพโรจน์กู้ยืมตามสัญญาจำนองเป็นเงินของโจทก์

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า โจทก์ต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลเข้าสืบเพราะเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์นำพยานบุคคลดังกล่าวเข้าสืบแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าจำเลยเป็นเพียงผู้รับจำนองแทนโจทก์เท่านั้น และเป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวแทนอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงหาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนไม่ กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า คำพิพากษาในคดีอาญาของศาลแขวงพระโขนงผูกพันคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่า ร่วมกันกระทำความผิดฐานยักยอกนั้น ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์มีเหตุสงสัยว่าจำเลยรับจำนองแทนโจทก์หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ตามสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงพระโขนง ศาลมิได้ยกฟ้องด้วยเหตุว่าจำเลยมิได้รับจำนองแทนโจทก์เพียงแต่สงสัยเท่านั้นและคดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์  อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้ คำพิพากษาในคดีอาญา ดังกล่าวจึงไม่ผูกพันคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน

หมายเหตุ 

          บัญญัติมาตรา 798 ที่กำหนดให้การตั้งตัวแทนไปทำนิติกรรมที่มีกฎหมายบัญญัติบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย กรณีเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การตั้งตัวแทนเพื่อให้การผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างตัวการกับบุคคลภายนอกสมบูรณ์ ส่งผลให้บุคคลภายนอกและตัวการบังคับกันได้ตามนิติกรรมที่ตัวแทนทำไป แต่ในส่วนของนิติสัมพันธ์ระหว่างตัวการกับตัวแทนด้วยกัน ไม่มีกฎหมายบังคับให้ตัวการกับตัวแทนต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนังสือ การที่ตัวการฟ้องบังคับให้ตัวแทนคืนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาจากการเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 จึงเป็นส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างตัวการกับตัวแทนไม่เกี่ยวกับสัญญาจำนองหรือคู่สัญญาจำนองอีกฝ่าย การที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการนำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ในการรับจำนองที่ดิน จึงไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาจำนองที่ระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับจำนองที่ดินเพราะสัญญาจำนองไม่ได้เป็นเอกสารที่แสดงฐานะความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยในฐานะตัวการกับตัวแทน ทั้งโจทก์และจำเลยก็ไม่ได้บังคับกันตามสัญญาจำนองดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
                   
          วรพจน์ วัชรางค์กุล 

 




สัญญาตัวแทน

หนังสือมอบอำนาจฟ้องคดีทำไว้ก่อนมีมูลหนี้
คดีล้มละลายเป็นส่วนหนึ่งของคดีแพ่ง
นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล
กรรมการเป็นตัวแทนเชิดของบริษัท