ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




สัญญาเช่าตึกแถวมิได้ปิดอากรแสตมป์

สัญญาเช่าตึกแถวมิได้ปิดอากรแสตมป์

โจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์หนังสือสัญญาเช่าตึกแถวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถือว่าเริ่มสัญญาใหม่ หนังสือสัญญาเช่าจึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานถูกต้องหรือไม่?? ในเรื่องนี้กฎหมายระบุเพียงว่าตราสารใดที่ไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้ว จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและขีดฆ่า เมื่อต้นฉบับหนังสือสัญญาเช่าอาคารที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

สัญญเช่าตึกแถวฟ้องขับไล่เรียกค่าเช่าค้างชำระ
จำเลยเช่าตึกแถวจากโจทก์ค่าเช่าเดือนละ17,000 บาท เมื่อครบกำหนดการเช่า 1 ปี จำเลยยังคงอยู่ในตึกแถวต่อมา ให้ถือว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาคือกำหนดเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป เงื่อนไขข้ออื่นคงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิมเช่นค่าเช่าก็ราคาเดิม เพราะการเช่าอสังหาริมทรัพย์กฎหมายบังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้นโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างในอัตราเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่าเดิมไม่ได้ และจะนำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าในอัตราเดือนละ 20,000 บาทก็ไม่ได้เช่นกัน 

ผู้ให้เช่าไม่ใช่เจ้าของตึกแถวมีอำนาจฟ้องได้หรือไม่?
มีปัญหาว่าหากโจทก์ไม่ใช่เจ้าของตึกแถวจะมีอำนาจฟ้องผู้เช่าหรือไม่?  จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวกับโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ให้เช่าตามสัญญาและจำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่าที่ทำกับโจทก์ไว้ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาที่ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าจึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5387/2549

  ทนายจำเลยคนเดิมยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีมาครั้งหนึ่งแล้วอ้างว่าป่วย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดี ก่อนถึงวันนัดสืบพยานจำเลย 4 วัน ทนายจำเลยคนเดิมขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลย ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยคนใหม่ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในคดี จำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีและซักค้านพยานโจทก์ ขอเลื่อนการพิจารณาออกไปสักนัดหนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ถ้าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ศาลจึงไม่อาจให้เลื่อนคดีได้

          ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดที่ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้ว จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและขีดฆ่า เมื่อต้นฉบับสัญญาเช่าอาคารที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

          จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ให้เช่าตามสัญญาและจำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่าที่ทำกับโจทก์ไว้ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาที่ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าจึงไม่เป็นสาระแก่คดี และตามสัญญาเช่าอาคารกำหนดอัตราค่าเช่าไว้เดือนละ 17,000 บาท เมื่อครบกำหนดการเช่า 1 ปี จำเลยยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อมา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ให้ถือว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาซึ่งหมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนสัญญาข้ออื่นคงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม รวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย และโดยเหตุที่การเช่าอสังหาริมทรัพย์นี้ ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยชำระค่าเช่า ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาเช่าอาคาร โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดงว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าดังที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าในอัตราเดือนละ 20,000 บาท จึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยคงต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระเดือนละ 17,000 บาท ตามอัตราค่าเช่าในสัญญาเช่าเดิม

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระ 90,000 บาท และริบเงินค่าเสียหาย 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าปรับวันละ 600 บาท นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2544 จนกว่าจำเลยจะยอมออกไปจากตึกแถวดังกล่าว และให้ชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 20,000 บาท จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถว

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา โจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นแล้วอยู่ระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลย

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวพิพาทและให้ชำระค่าเช่า 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวพิพาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่า มีเหตุสมควรเลื่อนคดีตามคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2544 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลได้กำหนดนัดวันนั่งพิจารณาและแจ้งให้คู่ความทราบแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเหตุจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อนการนั่งพิจารณาต่อไปโดยเสนอคำขอในวันนั้นหรือก่อนวันนั้น ศาลจะสั่งให้เลื่อนต่อไปก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งให้เลื่อนไปแล้วคู่ความฝ่ายนั้นจะขอเลื่อนการนั่งพิจารณาอีกไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และคู่ความฝ่ายที่ขอเลื่อนแสดงให้เป็นที่พอใจศาลได้ว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรมก็ให้ศาลสั่งเลื่อนคดีต่อไปได้เท่าที่จำเป็น แม้จะเกินกว่าหนึ่งครั้ง ปรากฏว่า ทนายจำเลยคนเดิมยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีมาครั้งหนึ่งแล้วอ้างว่าป่วย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีก่อนถึงวันนัดสืบพยานจำเลย 4 วัน ทนายจำเลยคนเดิมขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลย ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยคนใหม่ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในคดี จำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีและซักค้านพยานโจทก์ ขอเลื่อนการพิจารณาออกไปสักนัดหนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ถ้าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงไม่อาจให้เลื่อนคดีได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์หนังสือสัญญาเช่าอาคารภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถือว่าเริ่มสัญญาใหม่ หนังสือสัญญาเช่าอาคารจึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 นั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่าตราสารใดที่ไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้ว จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและขีดฆ่า เมื่อต้นฉบับหนังสือสัญญาเช่าอาคารที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของตึกแถวพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังแล้วว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ให้เช่าตามสัญญาและจำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่าที่ทำกับโจทก์ไว้ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาที่ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าจึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          ฎีกาของจำเลยข้อต่อมาที่ว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมานำสืบว่าได้มีการตกลงค่าเช่ากันใหม่เป็นเดือนละ 20,000 บาท นั้น เห็นว่า จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทจากโจทก์กำหนดอัตราค่าเช่าไว้เดือนละ 17,000 บาท เมื่อครบกำหนดการเช่า 1 ปี จำเลยยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อมา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 ให้ถือว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาซึ่งหมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนสัญญาข้ออื่นคงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม รวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย และโดยเหตุที่การเช่าอสังหาริมทรัพย์นี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยชำระค่าเช่าประจำเดือนตุลาคม 2543 ถึงเดือนมกราคม 2544 ในอัตราเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาเช่าอาคารโจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดงว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าดังที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าในอัตราเดือนละ 20,000 บาท จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จำเลยคงต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระเดือนละ 17,000 บาท ตามอัตราค่าเช่าในสัญญาเช่าเดิม สำหรับค่าเสียหายที่จำเลยครอบครองตึกแถวพิพาทภายหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวพิพาทซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์มีคำขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าวมาในอัตราเดียวกับค่าเช่าที่ค้างชำระ เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าได้เพียง 17,000 บาท และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายมากกว่าค่าเช่าที่จะได้รับหากจำเลยไม่ผิดสัญญา จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ในอัตราเดียวกับค่าเช่าที่ค้างชำระ เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระค่าเช่าและค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 102,000 บาท เมื่อหักกับค่าเช่าจำนวน 30,000 บาท ซึ่งจำเลยได้ชำระแก่โจทก์แล้วคงเหลือค่าเช่าและค่าเสียหายถึงวันฟ้องที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ 72,000 บาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเช่าและค่าเสียหาย 72,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 เมษายน 2544) เป็นต้นไป กับค่าเสียหายเดือนละ 17,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายสิ่งของออกไปจากตึกแถวพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( มนตรี ยอดปัญญา - สบโชค สุขารมณ์ - ประทีป เฉลิมภัทรกุล )
ศาลแพ่ง - นายวิรัตน์ อนันต์พิพัฒน์

ศาลอุทธรณ์ - นายชาญวิทย์ รักษ์กุลชน

     มาตรา 537    อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่าตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดและผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

มาตรา 570    ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา




สัญญาเช่า

ซื้อดาวน์รถยนต์แล้วนำไปขายดาวน์ต่อเป็นยักยอกทรัพย์หรือไม่?
เช่าที่ดินแต่มีคนอยู่ในที่ดินที่เช่า
สัญญาเช่าซื้อที่ดินผู้เช่าซื้อเสียชีวิตก่อนผ่อนหมด
ฟ้องเรียกเงินค่าสิทธิการเช่าคืน
สัญญาเช่ากับข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม