เอาสินสมรสยกให้โดยเสน่หาโดยปราศจากความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เอาสินสมรสยกให้โดยเสน่หาโดยปราศจากความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2896/2525 โจทก์กับ ช. สมรสกัน 60 ปี มาแล้วมีบุตรคนเดียว ต่อมาโจทก์ไปบวชชีโดยไม่ได้หย่ากัน ช. เป็นข้าราชการบำนาญ ออกจากบ้านเดิมไปพักอาศัยอยู่กับจำเลยและมารดา แล้วยกที่พิพาท 4 แปลงอันเป็นสินสมรสให้จำเลยซึ่งไม่ได้เป็นญาติกับโจทก์หรือ ช. โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์และ ช. มีทรัพย์สินมีค่าอย่างอื่นอีก ดังนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 เมื่อปราศจากความยินยอมของโจทก์การให้จึงไม่สมบูรณ์ โจทก์ขอเพิกถอนได้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ซึ่งที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ระหว่างหลวงชัยนาวากับจำเลยให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับหลวงชัยนาวาเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และหลวงชัยนาวา แต่มีชื่อหลวงชัยนาวาถือสิทธิในที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินแบบ 3 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 หลวงชัยนาวาได้แจ้งว่าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพิพาทสูญหายแล้วได้ยื่นเรื่องราวขอใบแทนและขอทำนิติกรรมยกให้จำเลยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2521 พร้อมกับทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยเป็นตัวแทนขอจดทะเบียนการยกที่พิพาทให้ตนเองแทน พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนยกที่พิพาทให้จำเลยตามคำขอและใบมอบอำนาจของหลวงชัยนาวาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2521 โจทก์มิได้ให้คำยินยอมในการนั้นด้วย หลวงชัยนาวาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2521 คดีมีปัญหาโต้เถียงกันในชั้นนี้ตามที่จำเลยฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่าการที่หลวงชัยนาวาทำนิติกรรมยกที่พิพาททั้ง 4 แปลงให้จำเลยโดยเสน่หาเป็นไปตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า โจทก์กับหลวงชัยนาวาสมรสกัน 60 ปีมาแล้ว มีบุตรคนเดียว เมื่อ พ.ศ. 2500 โจทก์ไปบวชชีอยู่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการโดยไม่ได้หย่ากัน หลวงชัยนาวาอยู่บ้านเดิมที่ตรอกจันทร์ที่ดินพิพาท นายผล นายปิ่นโอนให้หลวงชัยนาวาเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมโจทก์ไป หนังสือสำคัญแบบ 3 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ สำหรับที่พิพาทอยู่กับโจทก์ไม่ได้สูญหาย หลวงชัยนาวาเป็นข้าราชการบำนาญ หลวงชัยนาวาเจ็บป่วยก็ไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาล นางศรีอุทัย _ บุตรเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และเป็นผู้จัดการศพหลวงชัยนาวา โจทก์ไม่รู้จักจำเลยและมารดาจำเลยโจทก์ทราบในภายหลังที่ให้บุตรไปขอตรวจหลักฐานที่อำเภอปากช่องว่าหลวงชัยนาวายกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยนำสืบว่าหลวงชัยนาวากับนางมาลี _ มารดาจำเลยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน โจทก์บวชชีแล้วหลวงชัยนาวาได้มาพักอาศัยอยู่บ้านมารดาจำเลยเป็นเวลาประมาณ 10 ปีจนกระทั่งถึงแก่กรรม หลวงชัยนาวายกที่ดินพิพาทให้จำเลยเป็นการตอบแทนที่จำเลยกับมารดาได้อุปการะปรนนิบัติหลวงชัยนาวามาตลอด พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่าหลวงชัยนาวาเป็นข้าราชการบำนาญได้รับบำนาญเดือนละ 2,123 บาท จำเลยและนางมาลีมารดาจำเลยเบิกความว่าก่อนหลวงชัยนาวาถึงแก่กรรมได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 10 ครั้งเป็นคนไข้พิเศษ จำเลยและมารดาไม่ได้ออกค่าใช้จ่าย แสดงว่าหลวงชัยนาวามีฐานะการเงินดีไม่จำต้องได้รับความอุปการะจากจำเลย การที่หลวงชัยนาวาออกจากบ้านเดิมไปพักอาศัยอยู่กับจำเลยและมารดานั้น ตามฎีกาของจำเลยก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่าเพราะหลวงชัยนาวาไปมีความสัมพันธ์กับมารดาจำเลยทางชู้สาว ซึ่งนางมาลีมารดาของจำเลยก็เบิกความว่าหลวงชัยนาวาตั้งใจยกที่พิพาทให้นางมาลี แต่บิดานางมาลีเป็นบุคคลต่างด้าว จึงให้จำเลยรับโอนแทน และได้ความจากนายสนิท _ พยานจำเลยว่า หลวงชัยนาวาโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยเพราะมารดาจำเลยเป็นภริยาหลวงชัยนาวา หาใช่เป็นการตอบแทนบุญคุณที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหลวงชัยนาวายามชราและเจ็บป่วยดังที่จำเลยอ้างไม่ ปรากฏจากคำเบิกความของนางศรีอุทัย _ พยานโจทก์ว่า ที่ดินสินสมรสแปลงอื่น ๆ โจทก์กับหลวงชัยนาวาได้โอนขายไปก่อนแล้ว เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2513 ถึง 2514 นำเงินไปสร้างโบสถ์หมด ไม่ปรากฏว่าโจทก์และหลวงชัยนาวามีทรัพย์สินมีค่าอย่างอื่นอีก ขณะที่หลวงชัยนาวาเอาที่ดินพิพาทยกให้จำเลย จำเลยไม่ได้เป็นญาติกับโจทก์หรือหลวงชัยนาวา ดังนี้เห็นว่าการที่หลวงชัยนาวาเอาที่พิพาทอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และหลวงชัยนาวาไปทำนิติกรรมยกให้จำเลยทั้งหมดถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 ที่ได้ตรวจชำระใหม่เมื่อปราศจากความยินยอมของโจทก์ นิติกรรมการให้จึงไม่สมบูรณ์ โจทก์ย่อมขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้" พิพากษายืน ป.พ.พ. มาตรา 1480 การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน |