ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




หนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ

หนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ

เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 18 มกราคม 2539 จึงต้องถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระงวดที่เหลือทั้งหมดตลอดมา สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในกรณีหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ เกิดขึ้นนับแต่วันผิดนัดข้างต้น อายุความฟ้องเรียกเงินจำนวนที่ค้างชำระมีกำหนดอายุความห้าปี เจ้าหนี้ฟ้องคดีนี้เกินห้าปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามบทบัญญัติมาตรา 193/33 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9494/2552

          สิทธิเรียกร้องในกรณีหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่นั้น อายุความฟ้องเรียกเงินจำนวนที่ค้างจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) ซึ่งมีกำหนดอายุความห้าปี และเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 จึงเกินห้าปี ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความ และศาลฎีกาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่เป็นลูกหนี้ร่วมกับ จ. เจ้ามรดกที่มีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมซึ่งให้การยกข้อต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1), 247

          หนี้ตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ แต่จำนองเป็นทรัพย์สิทธิซึ่งจะระงับสิ้นไปก็แต่โดยกรณีต้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 744 ที่บัญญัติเหตุจำนองระงับไว้ใน (1) ถึง (6) โจทก์จึงมีสิทธิบังคับเอาชำระหนี้จำนองได้ แต่ไม่อาจบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีตามที่มาตรา 745 บัญญัติห้ามไว้เท่านั้น

          โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองเท่านั้น และตามสัญญาจำนองกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 13.75 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของคู่สัญญา จึงมิใช่เบี้ยปรับ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อ้างมาในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2537 นายจิมฮวด และจำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากโจทก์ สาขาพระโขนง จำนวน 400,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี และยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ กำหนดผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 5,500 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 14 เมษายน 2537 งวดต่อไปทุกวันที่ 14 ของเดือนถัดไป และจะชำระหนี้ให้เสร็จภายใน 120 เดือน นับแต่วันทำสัญญา เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ นายจิมฮวดและจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท มีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ นายจิมฮวด และจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้แก่โจทก์จนครบ นายจิมฮวดและจำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนด โดยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2539 เป็นเงิน 1,000 บาท วันดังกล่าว นายจิมฮวดและจำเลยที่ 2 ค้างชำระต้นเงิน 370,470.30 บาท ดอกเบี้ย 9,927.16 บาท รวมเป็นเงิน 380,397.46 บาท โจทก์ทราบว่านายจิมฮวดถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมของนายจิมฮวดได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งนางศุภวรรณ เป็นผู้จัดการมรดกศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางศุภวรรณเป็นผู้จัดการมรดกตามคำร้องขอโจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองค้างชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 696,123.93 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 696,123.93 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงิน 370,470.30 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

          ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางศุภวรรณ ผู้จัดการมรดกของนายจิมฮวด เข้าเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต

          จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทราบถึงการตายของนายจิมฮวดตั้งแต่ปี 2538 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับทรัพย์มรดกของนายจิมฮวด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยร่วมให้การว่า คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) และมาตรา 1754 วรรคสาม โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยร่วม จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเพียง 5 ปี และดอกเบี้ยมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนชอบที่จะปรับลดลง ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและกองมรดกของนายจิมฮวด ผู้ตายร่วมกันชำระต้นเงิน 370,470.30 บาท พร้อมดอกเบี้ย 9,927.16 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 370,470.30 บาท นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองและกองมรดกออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยที่ 1 และกองมรดกของนายจิมฮวดรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน ให้จำเลยทั้งสองและกองมรดกของนายจิมฮวดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

          จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกับจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายจิมฮวด ผู้ตายชำระต้นเงิน 370,470.30 บาท พร้อมดอกเบี้ย 9,927.16 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 370,470.30 บาท นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้ตัดคำว่ากองมรดกของนายจิมฮวดออกจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกแห่ง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกับจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ ทั้งนี้ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต้องไม่เกินไปจากทรัพย์มรดกของนายจิมฮวด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์

          จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า นายจิมฮวด และจำเลยที่ 2 ร่วมกันกู้เงินจำนวน 400,000 บาท จากโจทก์ สาขาพระโขนงกำหนดผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยคืนเป็นรายงวด งวดละ 5,500 บาท ภายในวันที่ 14 ของแต่ละเดือนติดต่อกันรวม 120 งวด หากผิดนัดงวดในงวดหนึ่งยินยอมให้ถือว่าผิดนัดทุกงวด เริ่มงวดแรกวันที่ 14 เมษายน 2537 ตามสัญญากู้เงินลงวันที่ 14 มีนาคม 2537 เอกสารหมาย จ.9 กับนายจิมฮวดและจำเลยที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันลงวันที่ 14 มีนาคม 2537 เอกสารหมาย จ.11 จากนั้นมีการผ่อนชำระตามสัญญาจนถึงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2539 คงเหลือยอดหนี้เงินต้น 370,470.30 บาท ดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 9,927.16 บาท รวม 380,397.46 บาท ตามรายการเคลื่อนไหวภาระหนี้ของลูกค้าเอกสารหมาย จ.13 แต่นายจิมฮวดถึงแก่ความตายไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยโจทก์เพิ่งทราบเมื่อต้นปี 2542 จำเลยที่ 1 เป็นมารดานายจิมฮวดจึงเป็นทายาทโดยธรรมของนายจิมฮวดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (2) จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยร่วมซึ่งเป็นน้องสาวของนายจิมฮวดเป็นผู้จัดการมรดก และศาลมีคำสั่งให้ตามคำร้องขอเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2539 ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 8 มีนาคม 2544 ไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกกล่าวให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองตามเอกสารหมาย จ.2 แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมฎีกาขึ้นมาหลายประเด็น ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกประเด็นฎีกาว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ซึ่งมีกำหนดเวลา 5 ปี หรือไม่ ขึ้นวินิจฉัยเป็นประการแรก เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 18 มกราคม 2539 จึงต้องถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระงวดที่เหลือทั้งหมดตลอดมา สิทธิเรียกร้องในกรณีหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่นั้นอายุความฟ้องเรียกเงินจำนวนที่ค้างจึงต้องบังคับตามมาตรา 193/33 (2) ดังกล่าวซึ่งมีกำหนดอายุความห้าปี และเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2539 ปรากฏว่าโจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 จึงเกินห้าปี ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความตามบทบัญญัติมาตรา 193/33 (2) และศาลฎีกาเห็นควรให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่เป็นลูกหนี้ร่วมกับนายจิมฮวดด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) 247 และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นฎีกาเกี่ยวกับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ต่อไป ฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมในข้อนี้ฟังขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมในประการต่อไปมีว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร ที่นายจิมฮวดและจำเลยที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ตามฟ้องไว้ต่อโจทก์และโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จำนองเป็นทรัพย์สิทธิซึ่งจะระงับสิ้นไปก็แต่โดยกรณีต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ที่บัญญัติว่า เหตุจำนองระงับไว้ใน (1) ถึง (6) โจทก์จึงมีสิทธิบังคับเอาชำระหนี้จำนองได้ แต่ไม่อาจบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปี ตามที่มาตรา 745 บัญญัติห้ามไว้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.2 ไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองจึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบตามมาตรา 728 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมในข้อที่ว่าโจทก์มิได้บอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม จึงไม่ถือว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบนั้น เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมของนายจิมฮวดอยู่แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          สำหรับประเด็นฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ถือเป็นเบี้ยปรับ ชอบที่ศาลจะต้องปรับลดลงให้แก่ฝ่ายลูกหนี้นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองเท่านั้น และตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.11 กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้คืออัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของคู่สัญญา อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง โจทก์มีสิทธิบังคับเอาชำระหนี้จำนองสำหรับเงินต้นที่ค้างชำระจำนวน 370,470.30 บาท กับดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี ย้อนหลังวันฟ้องขึ้นไป 5 ปี คือนับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2539 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จำนอง 370,470.30 บาท พร้อมดอกเบี้ย 9,927.16 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 370,470.30 บาท นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2539 จึงเป็นการพิพากษาให้จำเลยรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อ้างมาในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายจิมฮวด จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกนายจิมฮวด ร่วมกันรับผิดชำระหนี้จำนองจำนวน 370,470.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 190971 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

มาตรา 193/33    สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1) ดอกเบี้ยค้างชำระ
(2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
(3) ค่าเช่าทรัพย์สินค้าชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6)
(4) เงินค้างจ่ายคือเงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

มาตรา    744 อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป
(1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ
(2) เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
(3) เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น
(4) เมื่อถอนจำนอง
(5) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาล อันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง
(6) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด

มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม

ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียก ร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้ นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้อง ร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย 




หนี้เงินผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ