ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ผู้จัดการมรดกไม่แบ่งมรดกให้ทายาท

ผู้จัดการมรดกไม่แบ่งมรดกให้ทายาท

หน้าที่ของผู้จัดการมรดกก็คือต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทตามพินัยกรรม ตราบใดที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ยังมิได้แบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ย่อมต้องถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น อายุความยังไม่เริ่มต้นนับ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2752/2543

โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยแบ่งที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โดยอ้างว่าเจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินดังกล่าวแล้วใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่ายินยอมให้เจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยหรือไม่ เพราะเจ้ามรดกมิได้ถือกรรมสิทธิ์เอง ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม

 การที่เจ้ามรดกยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองขณะที่จำเลยยังเป็นผู้เยาว์ เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย และแม้เจ้ามรดกเป็นบุคคลต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่เจ้ามรดกยังมีสิทธิได้รับผลตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ ตราบใดที่ยังมิได้จำหน่าย ที่ดินพิพาทและโรงงานก็ยังคงเป็นของเจ้ามรดก ซึ่งอาจทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้ทั้งสิ้น

          จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทตามพินัยกรรม ตราบใดที่จำเลยยังมิได้แบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ย่อมต้องถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น อายุความยังไม่เริ่มต้นนับ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังไม่ขาดอายุความ
    โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอุดม ซึ่งเดิมเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติจีน ต่อมานายอุดมถึงแก่ความตาย นายอุดมมีทรัพย์มรดกหลายรายการรวมทั้งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคือโรงน้ำแข็งโดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนนายอุดมซึ่งเป็นคนต่างด้าว แต่นายอุดมได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองกำหนดยกโรงน้ำแข็งพร้อมที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยคนละเท่ากัน เมื่อนายอุดมถึงแก่ความตายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก โดยจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่านายอุดมได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่จำเลยกลับปิดบังไม่กล่าวอ้างและแสดงต่อศาลถึงพินัยกรรมดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่จัดการแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ ๑ ใน ๓ โดยปราศจากภาระผูกพันหรือนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งตามส่วน

   จำเลยให้การว่า นายอุดมซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้วยกให้แก่จำเลยโดยเสน่หา มิใช่ให้จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทย่อมไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกภายใน ๑ ปี นับแต่เมื่อโจทก์ทั้งสองได้รู้ถึงสิทธิที่ตนมีอยู่ตามพินัยกรรม และมิได้ฟ้องภายใน ๑๐ ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย อีกทั้งมิได้ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกภายในกำหนด ๕ ปี นับแต่วันจัดการมรดกเสร็จสิ้น ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ ๑ ใน ๓ ส่วน หากตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลราคาที่ดินกันในระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยแล้วนำเงินมาแบ่งกัน แต่ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งตามส่วน และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประการแรก ฟ้องของโจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินดังกล่าวแล้วใส่ชื่อจำเลยบุตรผู้เยาว์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน จึงไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่ายินยอมให้เจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยหรือไม่ เพราะเจ้ามรดกมิได้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยตนเอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองหาเคลือบคลุมไม่

          ประการที่สอง พินัยกรรมที่เจ้ามรดกทำขึ้นเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมือง โดยมีปลัดอำเภอซึ่งรักษาการแทนนายอำเภอเป็นผู้จดและอ่านข้อความที่ทำพินัยกรรมนั้นให้เจ้ามรดกและพยานฟัง เจ้ามรดกและพยานได้รับรองข้อความว่าถูกต้องและลงลายมือชื่อในพินัยกรรม จำเลยไม่เคยปฏิเสธความถูกต้องของพินัยกรรมดังกล่าว ตรงกันข้าม จำเลยได้รับรองความถูกต้องของพินัยกรรมโดยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลและจัดการมรดกตามพินัยกรรมดังกล่าวตลอดมา รวมทั้งได้ขออนุญาตขยายโรงน้ำแข็งซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินพิพาทในนามของโจทก์ทั้งสองและจำเลยด้วยการยืนยันว่า เจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดาได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองมอบกิจการโรงน้ำแข็งให้เป็นของจำเลยและโจทก์ทั้งสองเท่า ๆ กัน ซึ่งแม้จำเลยจะโต้แย้งว่าเป็นกรณีที่ขออนุญาตเฉพาะการดำเนินกิจการโรงน้ำแข็งเท่านั้นไม่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท แต่ก็แสดงให้เห็นว่า จำเลยได้รับรองความถูกต้องแท้จริงของพินัยกรรมดังกล่าว และรับรู้ตลอดมาว่าที่ดินพิพาทซึ่งโรงน้ำแข็งตั้งอยู่นั้นเจ้ามรดกใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนตั้งแต่จำเลยอายุเพียง ๒ ขวบ

          ประการที่สาม การที่เจ้ามรดกยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองขณะที่ จำเลยมีอายุ ๑๗ ปี นั้น เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย และแม้เจ้ามรดกเป็นบุคคลต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน มาตรา ๘๖ แต่การได้ที่ดินนั้นมาก็มิใช่ว่าจะไม่มีผลใด ๆ เสียเลย เพราะเจ้ามรดกยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา ๙๔ ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ ตราบใดที่ยังมิได้จำหน่ายที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทและโรงงานน้ำแข็งก็ยังคงเป็นของเจ้ามรดกซึ่งอาจทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้ทั้งสิ้น

          ประการสุดท้าย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทตามพินัยกรรม ตราบใดที่จำเลยยังมิได้แบ่งปันที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองย่อมต้องถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น อายุความยังไม่เริ่มต้นนับ ฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์สินของจำเลย แต่เป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมอันต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

          พิพากษายืน.
  
มาตรา 1733 วรรคสอง-คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

มาตรา 1748 ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้น กำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 แล้วก็ดี

สิทธิจะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกิน คราวละสิบปีไม่ได้

มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม

ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียก ร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้ นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้น(วรรคสี่)-กำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้อง ร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

 

 




อายุความมรดก