

มาตรา 5 การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดีในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต การที่ผู้ขายลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจล่วงหน้ามอบไว้แก่ผู้ซื้อนั้น แสดงว่าผู้ขายรู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่าผู้ที่ซื้อที่ดินจะสามารถนำหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ขายลงลายมือชื่อไว้ไปกระทำการโอนขายต่อหรือจำนองหรือกระทำการใด ๆ ก็ได้ภายหลังที่พ้นกำหนดข้อห้ามโอนแล้ว เมื่อธนาคารรับจำนองที่ดินโดยสุจริตจากผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทไปตามวิธีปฏิบัติดังกล่าว การที่ผู้ขายมาฟ้องคดีนี้ขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองเพื่อให้ตนมิต้องชำระหนี้ ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15187/2551 การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจล่วงหน้าไว้โดยมิได้มีการกรอกข้อความรายละเอียดลงไป แสดงว่าโจทก์รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่าผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทจะสามารถนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปกระทำการโอนขายต่อหรือจำนองหรือกระทำการใด ๆ ก็ได้ภายหลังที่พ้นกำหนดข้อห้ามโอน 5 ปีนับแต่ออกเอกสาร น.ส.3 ก. แล้ว เมื่อจำเลยรับจำนองที่ดินโดยสุจริตจากผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทไปตามวิธีปฏิบัติดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองเพื่อให้โจทก์มิต้องชำระหนี้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๕ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5)
|