

มาตรา 821 ตัวแทนเชิด มาตรา 821 ตัวแทนเชิด มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทน ของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็น ตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
ในคดีนี้เป็นการฟ้องเรื่องขับรถยนต์โดยประมาท จำเลยเป็นนิติบุคคลมอบอำนาจให้ตัวแทนไปตกลงค่าเสียหายแต่หนังสือมอบอำนาจไม่ได้ประทับของบริษัทจำเลย จึงปฏิเสธบันทึกข้อตกลงว่าไม่เคยมอบอำนาจให้ตัวแทนไปเจรจาตกลงใด ๆ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายสุชาติได้รับมอบอำนาจจากนางสุจิตรากรรมการของจำเลยมาเจรจาตกลงเรื่องความเสียหายโดยนำหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนางสุจิตราและนายสุชาติ หนังสือรับรองของบริษัทจำเลยมาแสดงต่อร้อยเวร และนายสุชาติตกลงเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และค่าซ่อมรถให้แก่โจทก์ ทั้งได้รับรถบรรทุกสิบล้อคืนไป แสดงให้เห็นว่านางสุจิตรากระทำในนามของจำเลย มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะมอบหนังสือรับรองของจำเลยไปแม้จะมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยลงในหนังสือมอบอำนาจก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการเชิดนางสุจิตราเป็นตัวแทนในการตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ แม้ว่านางสุจิตราจะมิได้กระทำด้วยตนเองแต่มอบอำนาจให้นายสุชาติกระทำการแทนก็ตาม จำเลยจึงต้องรับผิดตามบันทึกตกลงค่าเสียหายนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7802/2552 เมื่อเกิดเหตุรถชนกัน ส. ไปเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์โดยมอบใบมอบอำนาจที่มี จ. กรรมการของจำเลยลงลายมือชื่อโจทก์ พร้อมหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทของจำเลยให้ร้อยตำรวจเอก พ. เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า จ. กระทำในนามของจำเลย แม้ จ. มิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยลงในหนังสือมอบอำนาจ แต่การที่ ส. เจรจาค่าเสียหายกับโจทก์ยอมชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ 70,000 บาท และรับรถกระบะของโจทก์เพื่อนำไปซ่อม ทั้งยังนำรถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุคืนไปจากพนักงานสอบสวน และไม่ปรากฏว่าจำเลยมิได้รับรถคันดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยเชิด จ. เป็นตัวแทนในการตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ แม้ จ. จะมิได้กระทำด้วยตนเอง แต่มอบอำนาจให้ ส. กระทำการแทนก็ตาม จำเลยจึงต้องรับผิดตามบันทึกตกลงค่าเสียหาย บันทึกตกลงค่าเสียหายไม่มีข้อความระบุชัดแจ้งว่าฝ่ายจำเลยจะชำระค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงินเท่าใด และหากฝ่ายจำเลยไม่ซ่อม โจทก์จะเรียกร้องได้เพียงใด ไม่ชัดแจ้งที่จะเป็นการระงับข้อพิพาท จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ที่จะทำให้มูลหนี้ละเมิดระงับไป จำเลยจึงยังต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างจำเลย |