ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทน ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทน จำเลยได้ลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ถือบัตรไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสด ถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ไปจากวงเงินเครดิตของผู้ถือบัตร นอกจากจำเลยกระทำความผิดในส่วนอาญาแล้ว พนักงานอัยการมีคำขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 9 ปี ให้คืนเงิน 100,000 บาท แก่ผู้ถือบัตร ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้คืนเงินจำนวน 100,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2553 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้เบิกถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ของผู้เสียหายที่ 2 ไป อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และมาตรา 269/7 เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ได้กล่าวบรรยายว่า จำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งได้ออกให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยได้ลักไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสด ถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ไปจากวงเงินเครดิตของผู้เสียหายที่ 2 โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและธนาคาร ซ. และยังมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวด้วย ดังนั้น ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยฐานลักเงินของผู้เสียหายที่ 2 อยู่ด้วย เพียงแต่วิธีการลักเงินดังกล่าวก็โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัตินั่นเอง จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ด้วยแล้ว ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายที่ 2 โจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายที่ 2 ได้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) (8), 336 ทวิ, 269/5, 269/7, 91 และให้จำเลยคืนทรัพย์ที่ลักไปแก่ผู้เสียหายทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงิน 64,200 บาท และคืนเงิน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1111/2550 ของศาลชั้นต้น จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) (8) วรรคสอง, 336 ทวิ, 269/5, 269/7 เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ในเคหสถานโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ จำคุก 6 ปี ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ออกให้เพื่อใช้เงินเบิกถอนเงินสด จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้เงิน 64,200 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสองและเงินสดอีกจำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 ส่วนคำขอที่ให้นับโทษต่อนั้นได้ความว่าคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้คืนเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 100,000 บาท ได้หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยลักเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายที่ 2 หรือกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งดังที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 โจทก์จึงไม่อาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายได้ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้กล่าวบรรยายว่าจำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารซิตี้แบงก์ซึ่งได้ออกให้แก่นางสาวสุรีมาศ ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยได้ลักไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสด ถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ไปจากวงเงินเครดิตของผู้เสียหายที่ 2 โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและธนาคารซิตี้แบงก์ ดังนั้น คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการนำเอาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารซิตี้แบงก์ซึ่งธนาคารออกให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ที่จำเลยลักไปจากผู้เสียหายที่ 2 ไปทำการถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท และยังมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 100,000 บาท ด้วย ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยฐานลักเงินของผู้เสียหายที่ 2 อยู่ด้วย เพียงแต่วิธีการลักเงินดังกล่าวก็โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัตินั่นเอง จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ด้วยแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายที่ 2 โจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1. มาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 269/6 ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิสก์ของผู้อื่นโดยมิชอบตามมาตรา 269/5 ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 269/7 ถ้าการกระทำดังกล่าวในหมวดนี้ เป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง วิ.อาญา |