ReadyPlanet.com


พ่อมีสิทธิที่จะให้ลูกอยู่กับตนได้หรือไม่


เรื่องมีอยู่ว่า  ชาย กับ หญิง แต่งงานกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  อยู่กินด้วยกันมีลูก 1 คน โดยฝ่ายชายเป็นผู้แจ้งเกิด และให้ลูกใช้นามสกุลของชาย  ต่อมาทั้งสองมีการทะเลาะกันเรื่องเงินทองที่หญิงขโมยไปให้พ่อแม่ของตนบ่อยครั้ง(โดยที่ชายไม่รู้) ตอนนี้ชายจะให้หญิงกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของหญิง  โดยที่จะให้ลูกอยู่กับชาย (เพราะตอนนี้ชายได้รู้ประวัติทางครอบครัวฝ่ายหญิงว่า  ถ้าจะให้ลูกไปอยู่กับหญิง  ลูกจะต้องอดมื้อกินมื้อ  เนื่องจากฝ่ายหญิงไม่ได้ทำงานอะไร  พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็มีหนี้สินเยอะแยะ)  ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยตกลงกับหญิงว่าจะให้ลูกอยู่กับชายแต่หญิงไม่ยอมให้ (คาดเดากันเองว่า  ฝ่ายหญิงนั้นจะใช้ลูกเป็นตัวประกัน  เพราะรู้ว่าญาติฝ่ายชายรักเด็กคนนี้)  ที่คาดเดาก็เพราะว่าหญิงนั้นเคยมีสามีมาแล้ว 2 คน รวมกับชายอีก 1 คน  ณ ปัจจุบันหญิงมีสามีมาแล้วทั้งหมด 3 คน  มีลูกกับสามีคนที่ 2 อยู่ 1 คน  และมีลูกกับสามีคนที่ 3 อยู่ 1 คน  (ซึ่งลูกของสามีคนที่ 2 นั้น ให้พ่อแม่ของหญิงเลี้ยง  โดยให้ลูกเรียกตนว่า  พี่ )  และที่ฝ่ายหญิงต้องเลิกกับสามีทั้ง 2  นั้นเกิดมาจากเหตุการณ์ที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงมาขอเงินกับหญิง  และก็มาขอเรื่อยไปจนฝ่ายชายทุกคนทนไม่ได้

คำถามรบกวนตอบค่ะ

1. ฝ่ายชายมีสิทธิในตัวเด็กมากน้อยเพียงใด ?

2. ฝ่ายชายสามารถนำเด็กมาเลี้ยงไว้เองได้หรือไม่ ?

3. ฝ่ายหญิงเรียกร้องอะไรจากฝ่ายชายได้บ้าง ?

4. ถ้าฝ่ายชายไม่มีสิทธิในตัวเด็กแล้ว  กรณีที่ฝ่ายชายขอจดทะเบียนรับรองบุตร  ฝ่ายหญิงไม่ยินยอม ฝ่ายชายควรทำอย่างไร ?

5. ฝ่ายชายเลิกกับฝ่ายหญิงได้หรือไม่ ?

 " ขอขอบพระคุณอย่างยิ่ง  จากคำตอบ " 

 



ผู้ตั้งกระทู้ อุ๊ก :: วันที่ลงประกาศ 2012-08-27 10:12:29


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3367950)

1. ฝ่ายชายมีสิทธิในตัวเด็กมากน้อยเพียงใด ?

ตอบ - ฝ่ายชายเป็นบิดานอกกฎหมาย หญิงเป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ ชายต้องการที่จะมีความสัมพันธ์กับบุตรในทางกฎหมายต้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเด็กเป็นบุตร ต้องดูว่าบุตรมีอายุเท่าใด สามารถให้ความยินยอมได้หรือไม่ หากอายุยังน้อยไม่ถึง 8 -9  ปี ก็ให้ศาลมีคำสั่งได้ ต่อไปก็ค่อยขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียวได้ ส่วนศาลจะพิจารณาอย่างไรก็

มาตรา 1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1547  เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

มาตรา 1548  บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก
ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้

2. ฝ่ายชายสามารถนำเด็กมาเลี้ยงไว้เองได้หรือไม่ ?

ตอบ - ตามข้อ 1. เมื่อมารดาเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดาเป็นบิดานอกกฎหมาย ดังนั้น มารดาจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว มีสิทธิที่จำกำหนดที่อยู่ของบุตร และสิทธิที่จะเรียกบุตรคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะกักบุตรไว้ ซึ่งรวมถึงบิดานอกกฎหมายด้วยครับ

มาตรา 1566  บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
(1) มารดาหรือบิดาตาย
(2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้
 
มาตรา 1567  ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ
(1) กำหนดที่อยู่ของบุตร
(2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
(3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
(4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

3. ฝ่ายหญิงเรียกร้องอะไรจากฝ่ายชายได้บ้าง ?

ตอบ - หากฝ่ายหญิงต้องการให้ฝ่ายชายจดทะเบียนรับรองบุตร ย่อมมีใช้สิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมของบุตรฟ้องบิดาให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ เพราะหน้าที่บิดาชอบด้วยกฎหมายมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร และให้การศึกษาแก่ผู้เยาว์ตามฐานะของบิดามารดา

มาตรา 1564  บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์
บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

4. ถ้าฝ่ายชายไม่มีสิทธิในตัวเด็กแล้ว  กรณีที่ฝ่ายชายขอจดทะเบียนรับรองบุตร  ฝ่ายหญิงไม่ยินยอม ฝ่ายชายควรทำอย่างไร ?

ตอบ - ยื่นฟ้องเด็กและมารดาเด็กเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาครับ

----ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล

5. ฝ่ายชายเลิกกับฝ่ายหญิงได้หรือไม่ ?

ตอบ - ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ในสายตากฎหมายย่อมไม่ใช่สามีภริยากันตามกฎหมาย จะเลิกกันเมื่อใดก็ได้ครับ

มาตรา 1457  การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2013-06-09 19:24:03



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล