ReadyPlanet.com


เรื่องการยึดทรัพย์ โดยประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี


สวัสดีครับพี่ มีเรื่องรบกวนปรึกษา คือ ได้รับประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี เรื่องการยึดทรัพย์ โดย บริษัท โตโยต้าลีสซิ่ง เป็น โจทย์ ตัวกระผมเป็นจำเลยที่ 3 เพราะเป็นคนค้ำรถยนต์คนที่ 2  เรื่องมีอยู่ว่า จำเลยที่ 1 ได้ไปเช่าซื้อรถยนต์ จากโตโยต้าลีสซิ่ง ผ่อนได้ประมาณ 6 เดือน รถก็ดันไปหายที่ จ.เชียงใหม่ พอทราบว่ารถหายก็ไปแจ้งความที่ สภ.ที่เกิดเหตุทันที และได้แจ้ง บ.ประกัน แต่ทางร้อยเวรแจ้งว่า ผู้ขับรถเป็นแค่ผู้ครอบครองไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ ให้ไปเอาหนังสือมอบอำนาจจาก บ.โตโยต้าลิสซิ่งมาแจ้งความถึงจะได้ เลยได้แค่ลงบันทึกประจำวันไว้ ทางจำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นพ่อลูกกันก็ได้ิติดต่อไปที่ บ.โตโยต้าลิสซิ่งเพื่อขอใบมอบอำนาจเพื่อจะได้แจ้งความรถหาย จนเวลาล่วงเลยมาหลายเดือนก็ยังไม่ดำเนินการให้ ทาง บ.ประกันภัย ซึ่งโตโยต้าลิสซิ่งเป็นผู้จัดหาให้เมื่ออกรถครั้งแรกก็ปฎิเสธความรับผิดชอบ อ้างว่ายังไม่ได้มีการแจ้งความ แค่บันทึกประจำวันไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานรถหายได้ จำเลยที่ 1 , 2 ก็ได้ติดต่อไปที่ บ.โตโยต้าลิสซิ่งอีกครั้ง ทาง บ.โตโยต้าลิสซิ่ง ก็แจ้งกลับมาว่าให้นำเงินทั้งหมดที่ค้างชำระตั้งแต่เดือนที่รถหาย จนถึง วันนี้ มาชำระให้หมด ถึงจะออกใบมอบอำนาจให้ แต่ทาง จำเลยที่ 1 ตั้งแต่รถหายก็ไม่ได้ส่งค่างวดเลย เป็นเวลา 4 เดือน เงินก็ไม่มีส่งเพราะไม่มีรถยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากิน จนเรื่องถึงชั้นศาล มีหมายมาจากศาลกระผมจึงเพิ่งทราบเรื่องทั้งหมด ในวันที่ศาลนัด ก็มีเจ้าพนักงานมาให้ทำประนีประนอมยอมความกัน กระผมก็ได้เซ็นต์ประนีประนอมในวันนั้น และตั้งแต่วันนั้นผ่านมา 2 ปี ก็ไม่ได้ติดต่อกับจำเลย ที่ 1,2เลย จนมาถึงวันนี้ก็มีหมายยึดทรัพย์บ้านกระผม มาถึง พอสอบถามจำเลยที่ 1 ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ได้ชำระเงินให้ บ.โตโยต้าเลยเพราะไม่มีเงิน และจำเลยที่ 1 คิดว่า บ.ประกัน คงดำเนินการชดใช้ให้ บ.โตโยต้าลิสซิ่งแล้ว เพราะไม่ได้รับการติดต่อจากโตโยต้าลิสซิ่งเลย ซึ่ง คิดเอาเองว่า บ.โตโยต้าลิสซิ่ง เป็นเจ้าของและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตามกฎหมาย คงดำเนินการในเรื่องเครมประกันรถหายเรียร้อย เพราะเป็นหน้าที่ซึ่งเจ้าของรถควรกระทำเมื่อ รถที่ให้เช่าซื้อหาย และ บ.ประกันภัย ก็เป็นคู่ค้า กับ บ.โตโยต้าลิสซิ่ง เพราะรถทุกคันที่ออกจาก บ.โตโยต้าลิสซิ่ง เป็นผู้จัดหาให้ผู้เช่าซื้อ

 กระผมจึงใคร่ขอคำแนะนำในการดำเนินการและแก้ปัญหา ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร เพราะตอนนี้กลุ้มใจมาก เป็นหนี้โดยไม่รู้ตัว กราบขอบพระคุณคุณพี่เป็นอย่างสูงครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ศิริ (dew4321-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-26 13:08:21


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3305865)

แม้ว่าทางบริษัทลิสซิ่งจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ก็ตาม แต่ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้เช่าซื้อไม่ใช่บริษัทลิสซิ่งฯ ดังนั้นบริษัทลิสซิ่งฯ แม้เป็นคู่ค้าแต่ไม่ใช่คู่สัญญาครับ

ผู้ค้ำประกันก็มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ที่เราค้ำประกันไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิด จะบอกว่าเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัวนั้นคงไม่ตรงทีเดียวเพราะในสัญญาค้ำประกันระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ค้ำประกันครบถ้วน

ถ้าผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้ทางเจ้าหนี้ไปเท่าใด ทางผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอากับลูกหนี้ได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-02 20:17:40


ความคิดเห็นที่ 2 (3305867)

 รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายระหว่างเช่าซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5038/2552
 
มูลเหตุแห่งการฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ ทั้งในคดีเดิมและคดีนี้มาจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่ทำไว้กับโจทก์ฉบับเดียวกัน แม้ในคดีเดิมโจทก์จะกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนด ขอให้ส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาและค่าใช้ทรัพย์ ส่วนในคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าระหว่างการครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญารถยนต์สูญหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดโดยขอให้ชำระค่ารถยนต์ในส่วนที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายระหว่างเช่าซื้อนั้นได้ปรากฏขึ้นก่อนที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในคดีเดิมซึ่งโจทก์ทราบดี แต่โจทก์ไม่ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดกรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามข้อตกลงในสัญญา การที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคารถยนต์ที่สูญหายในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อฉบับเดียวกันอีก ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องได้อยู่แล้วในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนถึงที่สุดแล้วฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ
________________________________


          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6ฎ - 8142 กรุงเทพมหานคร พร้อมอุปกรณ์ไปจากโจทก์ในราคา 407,327.04 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด งวดละ 8,485 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 18 ธันวาคม 2539 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 18 ของเดือนถัดไปจนครบ ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 (ก) วรรคสอง ระบุว่าหากรถยนต์สูญหาย...ผู้เช่าซื้อยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที โดยผู้เช่าจะไม่ยกเหตุโจรกรรม...และเหตุที่เจ้าของมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรายที่ผู้เช่าซื้อเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันตามเงื่อนไขของสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 (ซ) มาปฏิเสธความรับผิดที่จะต้องชำระค่าเสียหายหรือชดใช้ราคาดังกล่าวข้างต้น... โดยสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเงิน 127,289.70 บาท แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 16 วันที่ 18 มีนาคม 2541 ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 ปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปจากการครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงมีหน้าที่ต้องร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่เหลือพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 280,037.34 บาท แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 280,037.34 บาท พร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนจากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ช.5312/2543 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายทำให้สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โจทก์จึงต้องคืนเงินดาวน์และเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วรวม 200,187 บาท แก่จำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้บังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาจำเลยทั้งสองขอถอนอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต

          ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2545 ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ ช.5312/2543 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้หรือไม่ โจทก์แถลงคัดค้าน

          ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองและวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ช.5312/2543 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่ชำระเกินมา 6,800 บาท แก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ตามคดีหมายเลขแดงที่ ช. 5312/2543 เรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกัน โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนและชดใช้ค่าใช้ทรัพย์ในการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ของโจทก์ตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองนับตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องพร้อมเบี้ยปรับ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันฉบับเดียวกันโดยอ้างเหตุว่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อจากโจทก์สูญหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้ออีก

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ช. 5312/2543 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้หรือไม่ เห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ ทั้งในคดีเดิมและคดีนี้มาจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่ทำไว้กับโจทก์ฉบับเดียวกัน แม้ในคดีเดิมโจทก์จะกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดขอให้ส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาและค่าใช้ทรัพย์ ส่วนในคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าระหว่างการครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญารถยนต์สูญหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดโดยขอให้ชำระค่ารถยนต์ในส่วนที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายระหว่างเช่าซื้อนั้นได้ปรากฏขึ้นก่อนที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในคดีเดิมซึ่งโจทก์ทราบดี แต่โจทก์ไม่ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดกรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามข้อตกลงในสัญญา การที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคารถยนต์ที่สูญหายในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อฉบับเดียวกันอีก ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องได้อยู่แล้วในคดีก่อนเมื่อคดีก่อนถึงที่สุดแล้วฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”

          พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
 

( มานัส เหลืองประเสริฐ - มนตรี ยอดปัญญา - สมชาย สินเกษม )

 
      

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-02 20:31:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล