ReadyPlanet.com


ปัญหาการจำนองทรัพย์สิน


สามีดิฉันเป็นต่างชาติ เปิดบริษัทเรียลเอสเตท ถือหุ้นตามเกณฑ์ และได้ซื้อที่ดินเป็นโฉนดในนามของบริษัท และปลูกบ้าน ก่อนที่จะแต่งงานกับดิฉัน   ที่ดินมี 1 ไร่ โฉนด 6 ใบ  ต่อมามีเพื่อนบ้านมาสร้างบ้านอยู่ติดกันและได้ขอต่อไฟฟ้าใช้สำหรับก่อสร้างบ้านของเค้า โดยตกลงกันว่าจะให้สามีดิฉันยืมเงินใช้ 100000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน  เนื่องจากตอนนั้นสามีดิฉันเงินหมุนเวียนขาดมือ  จึงใช้ที่ดินโฉนด 1 ใบจำนองไว้กับเพื่อนบ้านที่สำนักงานที่ดิน ต่อมาสามีดิฉันได้กลับไปทำงานที่ประเทศอเมริกา ประมาณ 6 เดือน ในขณะที่ไปทำงานเพื่อนบ้านดังกล่าวได้ให้คนเข้ามาต่อไฟไปปลูกสร้างบ้านเพิ่มอีก 3 หลัง โดยไม่ได้บอกกล่าว  และคนง่านได้ทำให้บ้านเสียหายด้วย โดยไม่ยอมซ่อมแซมให้ สามีดิฉันจึงจะกลับมาไถ่ถอนจำนองคืน  แต่เพื่อนบ้านดังกล่าว ไม่ต้องการจะให้ไถ่ถอนอาจจะกลัวว่าหากไถ่ถอนแล้วกลัวสามีดิฉันไม่ให้ต่อไฟฟ้า  และก็พยายามบ่าย    เบียงจะไม่ยอมไปไถ่ถอนที่อำเภอด้วย และบอกสามีดิฉันว่าไม่ต้องพูดเรื่องการไถ่ถอนอีก ถ้าอยากไถ่ถอนที่ดินคืนก็ให้ไปหาทนายมาคุยกัน   สามีเกรงว่าจะไม่ได้ที่ดินคืน อยากจะเรียนถามท่านดังเนี้ คะ 

1. การไถ่ถอนที่ดินที่เป็นชื่อของบริษัท มีขั้นตอนที่ที่ยุ่งยากหรือไม่คะ และสามารถดำเนินการเองโดยไม่ใช้ทนายได้หรือไม่ สามีเป็นถือหุ้นส่วน 49 % คะ

2. หากนัดคู่กรณีไม่ยอมมาทำเรื่อ่งไถ่ถอนที่สำนักงานที่ดินด้วย เราจะสามารถทำเรื่องเองฝ่ายเดียวได้หรือไม่ หากไม่ได้ จะต้องทำอย่างไรคะ  ต้องแจ้งความหรือไม่

3. กรณีโฉนดที่ดินเป็นชื่อของบริษัทของสามี  แต่ผู้อื่นถืออยู่จะสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่คะ เพราะที่ดินอยู่ภูเก็ตและราคาแพงมากคะ  และหากต้องการคืนต้องทำอย่างไรคะถ้าเค้าไม่ยอม

ขอความกรุณาช่วยตอบคำถามให้ดิฉันด้วยนะคะ   ดิฉันไม่เก่งเรื่อง กม.คะ ขอบคุณมากคะ 

 

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ แพงขวัญ :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-27 20:34:04


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3305985)

1. การไถ่ถอนที่ดินที่เป็นชื่อของบริษัท มีขั้นตอนที่ที่ยุ่งยากหรือไม่คะ และสามารถดำเนินการเองโดยไม่ใช้ทนายได้หรือไม่ สามีเป็นถือหุ้นส่วน 49 % คะ

ตอบ ขั้นตอนไถ่ถอนจำนองก็เหมือนขั้นตอนในการทำนิติกรรมจำนองครับ กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องใช้ทนายความ ดังนั้นผู้แทนของนิติบุคคลสามารถไถ่ถอนในนามของบริษัทได้เลยครับ ส่วนจะถือหุ้นเป็นจำนวนร้อยละเท่าใดไม่ใช่ประเด็น ต้องดูที่หนังสือรับรองนิติบุคคลว่าผู้ใดมีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น ๆ

2. หากนัดคู่กรณีไม่ยอมมาทำเรื่อ่งไถ่ถอนที่สำนักงานที่ดินด้วย เราจะสามารถทำเรื่องเองฝ่ายเดียวได้หรือไม่ หากไม่ได้ จะต้องทำอย่างไรคะ  ต้องแจ้งความหรือไม่

ตอบ สามารถนำเงินไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ไว้ก่อนได้ ต้องดูเงื่อนไขในการจำนองให้ดีว่าจะต้องไถ่ถอนภายในระยะเวลาเท่าใด อย่าให้เกินกำหนดนั้น

หากทางคู่สัญญาไม่ยอมไปดำเนินการไถ่ถอนให้ก็ติดต่อทนายความทำหนังสือบอกกล่าวและฟ้องบังคับคดีกันต่อไปได้ครับ

3. กรณีโฉนดที่ดินเป็นชื่อของบริษัทของสามี  แต่ผู้อื่นถืออยู่จะสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่คะ เพราะที่ดินอยู่ภูเก็ตและราคาแพงมากคะ  และหากต้องการคืนต้องทำอย่างไรคะถ้าเค้าไม่ยอม

ตอบ  โฉนดอยู่ที่ผู้รับจำนองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ เว้นแต่ทางผู้จำนองผิดสัญญาจำนอง ทางคู่สัญญาอาจฟ้องบังคับจำนองได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-04 13:54:37


ความคิดเห็นที่ 2 (3305988)

การวางทรัพย์เป็นการทำให้หนี้ระงับ

การวางทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331 มีผลทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ ถ้าลูกหนี้เป็นผู้วางทรัพย์ ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากหนี้ด้วยตามมาตรา 698 แม้การวางทรัพย์ดังกล่าว มาตรา 331 มิได้บัญญัติว่าทำให้หนี้ระงับก็ตาม แต่การวางทรัพย์บัญญัติอยู่ในหมวด 5 ความระงับหนี้ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการทำให้หนี้ระงับตามความหมายของมาตรา 698 นั่นเอง

           ถ้าผู้ค้ำประกันเป็นผู้วางทรัพย์ ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากหนี้ตามมาตรา 331 ได้เช่นกัน แต่กรณีที่ผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไปตามมาตรา 701 วรรคสองแล้ว ก็ไม่ต้องไปวางทรัพย์ตามมาตรา 331 อีก ทั้งไม่อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้อีกต่อไป สำนักงานวางทรัพย์จึงรับการวางทรัพย์ไม่ได้    

มาตรา 698    อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ

มาตรา 331    ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้วก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ได้ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชำระหนี้ไม่ สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิหรือไม่รู้ตัว เจ้าหนี้ได้แน่นอนโดยมิใช่เป็นความผิดของตน

มาตรา 701 ผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึง กำหนดชำระก็ได้

ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด

ขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามความรับผิด
จำเลยที่ 3(ผู้ค้ำประกัน) ให้การว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันแล้ว จำเลยที่ 3 ออกเช็ค เพื่อชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามที่โจทก์ทวงถาม แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้ จำเลยที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4479/2550

          บทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการวางทรัพย์ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพื่อที่ลูกหนี้จะได้หลุดพ้นจากความรับผิดเป็นคนละเรื่องกับการที่ผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระและเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้อันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 701 โดยไม่ต้องมีการวางทรัพย์

          การที่จำเลยที่ 3 นำแคชเชียรเช็คพร้อมเงินสดตามจำนวนที่ได้รับแจ้งจากพนักงานของธนาคารโจทก์ไปชำระ ณ สาขาของโจทก์ที่รับผิดชอบเรื่องหนี้สินรายพิพาท จึงเป็นการขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เมื่อหนี้ของจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันถึงกำหนดโดยชอบ เมื่อพนักงานของโจทก์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้ จำเลยที่ 3 เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 701 วรรคสอง
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นห้างหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 4,447,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินเป็นรายเดือน เดือนละ 92,700 บาท และชำระดอกเบี้ยทุกเดือนเริ่มแต่เดือนมิถุนายน 2538 เป็นต้นไป กำหนดชำระหนี้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระงวดหนึ่งงวดใดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดและให้ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ เพื่อประกันการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 3 ออกหนังสือค้ำประกันเพื่อประกันการชำระหนี้ดังกล่าวไว้แก่โจทก์โดยไม่จำต้องเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกิน 4,600,000 บาท ภายหลังทำสัญญา จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เพียงบางส่วน คิดถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 4,246,879.86 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,246,879.86 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,876,782.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไม่ถูกต้องตามสัญญาและกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 3 ให้การว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันแล้ว จำเลยที่ 3 ออกเช็คลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 จำนวนเงิน 3,540,649.43 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามที่โจทก์ทวงถาม แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้ จำเลยที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,246,879.86 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,876,782.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 3 มิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 4,447,000 บาท ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 แล้วผิดนัดตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นมา ครั้นวันที่ 23 มิถุนายน 2541 โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสามให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองตามสำเนาหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองเอกสารหมาย จ.13 ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 3 ได้ออกแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 3,540,649.43 บาท สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ สาขาลานกระบือ เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งเป็นยอดหนี้ที่ติดต่อประสานงานกับโจทก์ สาขาลานกระบือแล้วและเตรียมเงินสดจำนวนเท่ากันมอบให้นายสมบัติ อิศรากำพต ผู้ช่วยผู้จัดการของจำเลยที่ 3 สาขาสามง่าม นำไปชำระให้แก่โจทก์ที่สาขาลานกระบือ ตามที่ระบุในหนังสือทวงถาม แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อของโจทก์ไม่ยอมรับชำระอ้างว่าเงินที่จำเลยที่ 3 นำมาชำระหนี้นั้นยังไม่ครบถ้วนเพราะยังขาดค่าเสียหายที่เป็นค่าจ้างทนายความอีก 10,000 บาท

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายธนกร ลีลาวัชรมาศ ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการของโจทก์สาขาลานกระบือขณะเกิดเหตุมาเบิกความว่า การกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ครั้งนี้มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยที่ 3 ตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดนอกจากจำเลยที่ 3 ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ในวงเงินไม่เกิน 4,600,000 บาทแล้ว ยังมีข้อตกลงกันให้โจทก์มีสิทธิริบหลักประกันและเรียกร้องค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดได้อีกตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 หลังจากจำเลยทั้งสามผิดนัดโจทก์มอบให้ทนายความท้องถิ่นมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสามให้ชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.13 โดยทนายความท้องถิ่นผู้ออกหนังสือคิดค่าจ้างจากโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจ้างทนายความเอกสารหมาย จ.17 และนายธนกรเบิกความตอบคำถามค้านว่าการทำสัญญาจ้างทนายความเอกสารหมาย จ.17 นั้น จำเลยที่ 3 ไม่ทราบเรื่อง ก่อนผิดนัดจำเลยที่ 1 เคยชำระหนี้ให้โจทก์หลายครั้ง แต่ละครั้งจะชำระผ่านเจ้าหน้าที่สินเชื่อของโจทก์หรือบางครั้งก็ผ่านทางพนักงานบัญชี นายชัยวัฒน์ ตรีภูริฑัต เป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อคนหนึ่งของโจทก์ สาขาลานกระบือ การชำระหนี้ผ่านพนักงานของโจทก์หากเป็นการกระทำโดยชอบก็ต้องถือว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว นอกจากนั้นโจทก์ยังมีนายชัยวัฒน์ ตรีภูริทัต มาเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุนายชัยวัฒน์เป็นพนักงานของโจทก์ สาขาลานกระบือ และเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลลูกหนี้ในคดีนี้ ก่อนผิดนัดจำเลยที่ 1 เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์หลายครั้ง บางครั้งนายชัยวัฒน์ก็เป็นผู้รับชำระด้วยตนเอง ในการเจรจาติดต่อเกี่ยวกับการชำระหนี้กรณีของจำเลยที่ 3 นั้น นายชัยวัฒน์เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ การติดตามทวงถามหนี้สินจากจำเลยที่ 3 นั้น ผู้จัดการของโจทก์สาขาลานกระบือรับทราบมาตลอด เห็นว่า แม้สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จะมีข้อตกลงระบุไว้ด้วยว่าหากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัด ผู้ค้ำประกันคือจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในค่าปรับและค่าเสียหายใดๆ ที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยที่ 1 ได้แล้วจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดด้วยก็ตาม แต่ค่าจ้างทนายความในการทวงถามเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.17 นั้นก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับทนายความผู้รับจ้าง ไม่มีผลผูกพันไปถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มิได้ตกลงยินยอมด้วย อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการทวงถามของทนายความดังกล่าวก็มิได้เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้น จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในส่วนนี้ตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้โจทก์ย่อมเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วดังเห็นเจตนาของโจทก์ได้จากการออกหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.8, จ.10, จ.13 และ ล.1 ที่ไม่มีการทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าทนายความในการออกหนังสือทวงถามจำนวน 10,000 บาท ดังกล่าวด้วย แม้กระทั่งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันโจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องหรือขอมาในคำฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระค่าจ้างทนายความในการออกหนังสือทวงถามจำนวน 10,000 บาท เช่นเดียวกัน ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเอาค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยที่ 3 ได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นายชัยวัตน์พนักงานสินเชื่อของโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะรับเงินที่จำเลยที่ 3 นำมาชำระให้ในวันนั้น โจทก์จึงมีสิทธิปฏิเสธการชำระหนี้ของจำเลยที่ 3 ได้ ทำให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ไม่นั้น ในข้อนี้ได้ความจากนายธนกรและนายชัยวัฒน์ อดีตผู้จัดการและอดีตเจ้าหน้าที่สินเชื่อของโจทก์ สาขาลานกระบือที่เกิดเหตุว่า นายชัยวัฒน์เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีนี้ ในการเจรจาติดต่อเกี่ยวกับการชำระหนี้กรณีของจำเลยที่ 3 นั้น นายชัยวัฒน์ก็เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ ก่อนผิดนัดจำเลยที่ 1 เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์หลายครั้ง บางครั้งจะชำระผ่านทางเจ้าหน้าที่สินเชื่อ บางครั้งก็ผ่านพนักงานบัญชีและนายชัยวัฒน์ก็เคยเป็นผู้รับชำระด้วยตนเอง ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับตลอดมาอันแสดงให้เห็นว่าการชำระหนี้ของลูกหนี้ต่อธนาคารโจทก์นั้นไม่จำเป็นที่ผู้จัดการสาขาจะต้องเป็นผู้รับชำระด้วยตนเอง แต่สามารถชำระผ่านทางเจ้าหน้าที่สินเชื่อหรือพนักงานบัญชีได้โดยชอบซึ่งโจทก์ก็ยอมรับการปฏิบัติเช่นที่กล่าวมานี้ อย่างไรก็ตามยังได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และฎีกาของโจทก์ว่า นายธนกรผู้จัดการของโจทก์สาขาลานกระบือ ได้รับทราบและสั่งการให้นายชัยวัฒน์เจ้าหน้าที่สินเชื่อบอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้จากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 โดยให้เรียกร้องค่าจ้างทนายความเพิ่มอีก 10,000 บาท จนเป็นเหตุให้ผู้จัดการของจำเลยที่ 3 สาขาสามง่าม มอบหมายให้นายสมบัติ อิศรากำพต ผู้ช่วยผู้จัดการไปดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ไว้เป็นหลักฐานตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามความรับผิดของจำเลยที่ 3 ต่อโจทก์แล้ว แต่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากเหตุผลอันสมควรหรือข้ออ้างใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 สามารถนำเงินไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ได้ แต่จำเลยที่ 3 กลับไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจเพื่อนำมาใช้เป็นข้ออ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ยอมรับชำระหนี้ ถือว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาไม่สุจริตนั้น เห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการวางทรัพย์ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพื่อที่ลูกหนี้จะได้หลุดพ้นจากความรับผิดทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มิได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กันกับการที่ผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระและเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้โดยปราศจากเหตุผลอันสมควรหรือข้ออ้างใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701 ฎีกาของโจทก์ในเรื่องนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้เช่นกัน ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 3 นำแคชเชียร์เช็คพร้อมเงินสดตามจำนวนที่ได้รับแจ้งจากพนักงานของโจทก์ไปชำระ ณ สาขาของโจทก์ที่รับผิดชอบเรื่องหนี้สินรายนี้ จึงเป็นการขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เมื่อหนี้ของจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันถึงกำหนดโดยชอบ เมื่อพนักงานของโจทก์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - สบโชค สุขารมณ์ - มนตรี ยอดปัญญา )

หมายเหตุ 

          การวางทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331 มีผลทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ ถ้าลูกหนี้เป็นผู้วางทรัพย์ ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากหนี้ด้วยตามมาตรา 698 แม้การวางทรัพย์ดังกล่าว มาตรา 312 มิได้บัญญัติว่าทำให้หนี้ระงับก็ตาม แต่การวางทรัพย์บัญญัติอยู่ในหมวด 5 ความระงับหนี้ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการทำให้หนี้ระงับตามความหมายของมาตรา 698 นั่นเอง

           ถ้าผู้ค้ำประกันเป็นผู้วางทรัพย์ ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากหนี้ตามมาตรา 331 ได้เช่นกัน แต่กรณีที่ผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไปตามมาตรา 701 วรรคสองแล้ว ก็ไม่ต้องไปวางทรัพย์ตามมาตรา 331 อีก ทั้งไม่อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้อีกต่อไป สำนักงานวางทรัพย์จึงรับการวางทรัพย์ไม่ได้    

           ไพโรจน์ วายุภาพ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-04 14:33:52



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล