ReadyPlanet.com


พินัยกรรมฝ่ายเมือง


 

ขอถามว่าพินัยกรรมฝ่ายเมื่อง มีความศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน ?

เนื่องจากว่า พินัยกรรมฝ่ายเมืองทำไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และฉบับหลังสุดเขียนด้วยลายมือตนเอง

ไม่ทราบว่า ต้องนำฉบับไหนมาใช้ ฝ่ายเมืองใช่ใหม ? หรือว่าต้องเป็นฉบับหลังสุดเท่านั้น ?

ขอบคุณค่ะ

เรณู



ผู้ตั้งกระทู้ เรณู :: วันที่ลงประกาศ 2011-06-29 08:05:32


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3300145)

การทำพินัยกรรมจะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ ดังนั้นการทำพินัยกรรมแบบเขียนเอง ถือเป็นแบบหนึ่งในหลายแบบที่กฎหมายกำหนด และเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนด้วยพินัยกรรมฉบับหลัง

มาตรา 1694 ถ้าจะเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนเสียทั้งหมดหรือ แต่บางส่วนด้วยพินัยกรรมฉบับหลัง การเพิกถอนจะสมบูรณ์ต่อเมื่อ พินัยกรรมฉบับหลังนั้นได้ทำตามแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้

มาตรา 1657 พินัยกรรมนั้นจะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความ ทั้งหมด วัน เดือนปี และลายมือชื่อของตน
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-06 08:37:58


ความคิดเห็นที่ 2 (3300146)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6981/2545

 

          หนังสือยืนยันรับรองที่ผู้ตายทำขึ้น ไม่มีถ้อยคำที่ระบุว่าเป็นพินัยกรรมและคำสั่งเผื่อตาย ข้อความที่ระบุให้พินัยกรรมฝ่ายเมืองฉบับแรกถือเป็นพินัยกรรมที่ใช้ได้ และข้อความที่ไม่รับรองเอกสารซึ่งผู้ตายลงลายมือชื่อไว้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 และขอยกเลิกเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องการยืนยันและเพิกถอนพินัยกรรมของตนที่ได้ทำไว้เท่านั้น มิใช่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646

           ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1693 แต่ในการเพิกถอนพินัยกรรมนั้นกฎหมายกำหนดวิธีการไว้ 4 กรณี ตามมาตรา 1694 ถึงมาตรา 1697 คือการทำพินัยกรรมฉบับหลังขึ้นมาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน การทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมด้วยความตั้งใจ การโอนหรือทำลายทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมด้วยความสมัครใจและการทำพินัยกรรมฉบับหลังมีข้อความขัดกันกับพินัยกรรมฉบับก่อนกฎหมายมิได้กำหนดวิธีการอื่นใดนอกจากนี้มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมได้ ฉะนั้น การที่ผู้ตายทำหนังสือยืนยันรับรองมีข้อความว่าไม่รับรองเอกสารฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 ที่มีผู้นำมาให้ลงชื่อ แม้จะแปลได้ว่าผู้ตายมีเจตนาเพิกถอนหรือไม่รับรองพินัยกรรมลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 ของตนนั้น แต่เมื่อหนังสือยืนยันรับรองดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมจึงไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมได้
________________________________

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยานายอ่วน เฟื่องสง่า ผู้ตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย


          ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นหลานของผู้ตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับแรกเป็นพินัยกรรมฝ่ายเมืองทำเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2538 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7117 ให้แก่ผู้คัดค้านและให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ฉบับที่สองทำขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2540 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4781 ให้แก่นายสุริยา เฟื่องสง่า นางปราณีเอมโอษฐ์ นางน้อย อุ่นใจดี นางศิริวรรณ โพธิ์บุญ และนางวัฒนา ชัยมงคล ยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 114 (ที่ถูกเลขที่ 103) เลขที่ดิน 44 ให้แก่ ผู้คัดค้านยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6763 ซึ่งมีบ้านเลขที่ 13 ปลูกอยู่บนที่ดิน ให้แก่นายนิพันธ์ ชาวไทย โดยให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ส่วนพินัยกรรมตามเอกสารท้ายคำร้องขอหมายเลข 4 ผู้ตายได้ทำหนังสือยืนยันไม่รับรองพินัยกรรมฉบับดังกล่าว ตามเอกสารท้ายคำคัดค้านหมายเลข 3 พินัยกรรมฉบับที่ผู้ร้องอ้างจึงไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนได้เสีย จึงขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางชุ่ม เฟื่องสง่า ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายอ่วน เฟื่องสง่า ผู้ตาย เว้นแต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7117 ตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีให้เฉพาะผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

          ผู้ร้องอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

          ผู้คัดค้านฎีกา


          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นางชุ่ม เฟื่องสง่าผู้ร้อง เป็นภริยาของนายอ่วน เฟื่องสง่า ผู้ตาย โดยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์2509 ตามสำเนาใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย ร.3 นายนิพนธ์ ชาวไทย ผู้คัดค้านเป็นหลานของผู้ตาย ผู้ตายทำพินัยกรรม 4 ฉบับ คือ พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองลงวันที่5 มกราคม 2538 ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.ค.2 พินัยกรรมลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2540 ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.ค.3 และพินัยกรรมลงวันที่ 21 พฤษภาคม2540 อีก 2 ฉบับ ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 ในวันที่ 28 พฤษภาคม2540 ผู้ตายทำหนังสือยืนยันรับรองเอกสารหมายเลข ร.ค.1 รุ่งขึ้นวันที่ 29 พฤษภาคม2540 ผู้ตายถึงแก่ความตายตามสำเนามรณบัตรเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า หนังสือยืนยันรับรองเอกสารหมาย ร.ค.1 เป็นพินัยกรรมของผู้ตายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่าข้อความในหนังสือยืนยันรับรองดังกล่าวที่ระบุให้พินัยกรรมของผู้ตายฉบับใดมีผลใช้บังคับได้และฉบับใดไม่มีผลใช้บังคับนั้นคือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้ตายจึงเป็นพินัยกรรมของผู้ตาย เห็นว่า หนังสือยืนยันรับรองเอกสารหมาย ร.ค.1 ไม่มีถ้อยคำที่ระบุว่าเป็นพินัยกรรมและไม่มีข้อความอันเป็นคำสั่งเผื่อตายแต่อย่างใด ข้อความที่ระบุในข้อ 2 ให้พินัยกรรมฝ่ายเมืองฉบับแรกซึ่งทำไว้ที่อำเภอเมืองถือเป็นหนังสือพินัยกรรมที่ใช้ได้ และข้อ 3 ข้อความที่ไม่รับรองเอกสารซึ่งผู้ตายลงลายมือชื่อไว้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 และขอยกเลิกเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องการยืนยันและเพิกถอนพินัยกรรมของตนที่ได้ทำไว้เท่านั้น หาใช่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 ไม่ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น


          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการต่อไปคือ หนังสือยืนยันรับรองเอกสารหมาย ร.ค.1 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า ขณะที่ทำหนังสือยืนยันดังกล่าวผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และสมัครใจที่จะกระทำ จึงมีผลใช้บังคับได้และมีผลเป็นการไม่รับรองพินัยกรรมของผู้ตายเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 นั้น เห็นว่า พินัยกรรมมีผลตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายเป็นต้นไป ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1693 แต่ในการเพิกถอนพินัยกรรมนั้นกฎหมายกำหนดวิธีการที่ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนไว้ 4 กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1694 ถึงมาตรา 1697 คือ การทำพินัยกรรมฉบับหลังขึ้นมาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน การทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมด้วยความตั้งใจการโอนหรือทำลายทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมด้วยความสมัครใจและการทำพินัยกรรมฉบับหลังมีข้อความขัดกันกับพินัยกรรมฉบับก่อน กฎหมายมิได้กำหนดวิธีการอื่นใดนอกจากนี้มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมได้ ฉะนั้น การที่ผู้ตายทำหนังสือยืนยันรับรองเอกสารหมาย ร.ค.1 ในข้อ 3 ซึ่งมีข้อความว่าไม่รับรองเอกสารฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 ที่มีผู้นำมาให้ลงชื่อแม้จะแปลได้ว่าผู้ตายมีเจตนาเพื่อเพิกถอนหรือไม่รับรองพินัยกรรมลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 เอกสารหมาย ร.1 และ ร.2ของตนนั้น ไม่ว่าผู้ตายจะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และสมัครใจกระทำหรือไม่ก็ตาม เมื่อหนังสือยืนยันรับรองเอกสารหมาย ร.ค.1 ไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมดังที่วินิจฉัยมาแล้วจึงไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 ได้ พินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์และใช้บังคับได้ตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 มีผลใช้บังคับได้นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน"

          พิพากษายืน

( ประสพสุข บุญเดช - จรัส พวงมณี - จรูญวิทย์ ทองสอน )

              

ผู้แสดงความคิดเห็น ** วันที่ตอบ 2011-07-06 08:38:56



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล