ReadyPlanet.com


กู้เงินธนาคารระหว่างสมรส


หนูได้จดทะเบียนสมรสเมื่อปี 50 และได้ดำเนินกิจการกับสามีในนาม หจก. และปี51หนูได้กู้เงินจากธนาคาร มาเพื่อใช้ในกิจการ แต่เป็นผู้กู้คนเดียว  สามีมิได้กู้ร่วมหรือเป็นพยานแต่อย่างใด และเมื่อปี 52 หนูกับสามีได้แยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าจนถึงปัจจุบัน เพราะสามีจะไม่รับผิดชอบหนี้เงินกู้ธนาคาร กรณีอย่างนี้จะฟ้องหย่าและให้ศาลบังคับให้สามีรับผิดชอบหนี้ธนาคารร่วมกันได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ คนเดือดร้อน :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-27 13:37:34


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3305981)

โดยหลักแล้วหนี้ที่สามีภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสอันเนื่องมาจากกิจการที่ทำร่วมกันถือว่าเป็นหนี้ร่วมซึ่งต้องรับผิดร่วมกันครับ

สำหรับการหย่านั้นจะต้องพิจารณาเหตุหย่าตามกฎหมายครับ

มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามี หรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือน และจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและ การศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ได้ให้สัตยาบัน

 

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความ ผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่าย ที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่น ประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุก เกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามี ภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของ ศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตาม สมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความ ประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย หนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วม ประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-04 12:59:39


ความคิดเห็นที่ 2 (3305983)

หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน

  ปัญหาว่าสามี จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ของภริยาหรือไม่ ทางนำสืบได้ความว่าในการกู้ยืมเงินของภริยานั้น สามีโดยชอบด้วยกฎหมายได้รู้เห็นยินยอมด้วย กล่าวคือสามีเคยไปรับเงินกู้จากผู้ให้กู้พร้อมกับภริยาหลายครั้ง และเคยขอให้สามีลงชื่อค้ำประกัน สามีก็รับปาก แต่เมื่อไปที่บ้านของผู้ให้กู้ สามีกลับไม่ยอมลงชื่อ แต่ก็รับใช้หนี้สินทั้งหมดเห็นว่า สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กู้(ภริยา)พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันตลอดมาเพิ่งจดทะเบียนหย่ากันเชื่อว่า สามีรู้เห็นยินยอมให้ภริยา ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินตลอดมา แม้สามีจะไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ แต่ ก็รับรู้ในหนี้ที่ภริยาก่อขึ้นตลอดมาถือได้ว่าหนี้ที่ภริยา ก่อขึ้นเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(3) ซึ่งต้องรับผิดใช้หนี้ร่วมกันต่อผู้ให้กู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7853/2540

          การฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น เจ้าหนี้เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองจะเป็นหนี้โจทก์จริงหรือไม่ และจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเมื่อมีประเด็นโต้เถียงกัน คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นแล้วว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการโดยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองตกลงจะ ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 19,020,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้และออกเช็คเพื่อชำระหนี้ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสอง 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้โจทก์จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(7)และ(9) ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9และครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายจำเลยขอเลื่อนคดีหลายครั้ง และจำเลยที่ 1เบิกความเสร็จเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1ขอเลื่อนไปสืบพยานที่เหลือในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537วันที่ 19 ธันวาคม 2537 วันที่ 6 และ 20 กุมภาพันธ์ 2538เวลา 9 นาฬิกา รวม 4 วัน ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่าสืบพยานจำเลยที่ 1 เสร็จเมื่อใดให้จำเลยที่ 2 สืบต่อ เมื่อถึงวันนัดที่เลื่อนมาจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีอ้างว่าเตรียมพยานมาโดยผิดหลงขอเลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 1 ต่อในนัดหน้า โดยจำเลยที่ 1 ขอสืบ ส. อีกปากเดียว ศาลชั้นต้นอนุญาตครั้นถึงวันนัด จำเลยที่ 1 แถลงหมดพยานศาลชั้นต้นจึงให้จำเลยที่ 2 นำพยานเข้าสืบต่อจำเลยที่ 2 ขอเลื่อนอ้างว่าไม่ได้เตรียมพยานมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 2 รวม 2 นัดตามที่นัดไว้เดิม เมื่อถึงวันนัดต่อมา จำเลยที่ 2ขอเลื่อนคดีอ้างว่าตัวจำเลยที่ 2 ติดอบรมที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลา 3 เดือน และแถลงว่าติดใจสืบตัวจำเลยที่ 2กับ ส. เพียง 2 ปากนอกนั้นจะขอส่งคำให้การพยานจากศาลแขวงนครราชสีมาแทน สำหรับ ส.อาจจะไม่สืบ ต้องรอคำเบิกความจำเลยที่ 2ก่อน และแถลงเพิ่มเติมว่านัดหน้าจะนำตัวจำเลยที่ 2หรือส.มาเบิกความ จะไม่ขอเลื่อนคดีอีกศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อตามที่นัดไว้เดิม ถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำตัวจำเลยที่ 2 หรือส.มาเบิกความแต่กลับขอเลื่อนคดีอ้างว่าตัวจำเลยที่ 2 ติดการอบรมที่กรุงเทพมหานครดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2หลายครั้งแล้ว และครั้งสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 ขอเลื่อนก็แถลงว่าจะนำตัวจำเลยที่ 2 หรือส. มาเบิกความและจะไม่ขอเลื่อนคดีอีก แต่เมื่อถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 2ก็ไม่ได้นำตัวจำเลยที่ 2 หรือส. มาเบิกความตามที่แถลงไว้ พฤติการณ์ของ จำเลยที่ 2 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เลื่อนคดีและ งดสืบพยานจำเลยที่ 2 โดยถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีพยาน มาสืบจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจริง ในการกู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอมด้วย โดยจำเลยที่ 2 เคยไปรับเงินกู้จากโจทก์พร้อมกับจำเลยที่ 1 หลายครั้งนอกจากนี้เมื่อสามีโจทก์ไปพบจำเลยที่ 2 และได้พูดเรื่อง หนี้สินกับจำเลยที่ 2 กับขอให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ก็รับปากจะใช้หนี้สินทั้งหมดให้แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 กลับไม่ยอมลงชื่อในสัญญาค้ำประกันดังนี้ เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ 2รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินตลอดมา แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ฉบับดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยที่ 2 รับรู้ในหนี้ที่จำเลยที่ 1ก่อขึ้นตลอดมา ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกันจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(3)ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดใช้หนี้ร่วมกันต่อโจทก์
________________________________


          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างปี 2531-2535 จำเลยทั้งสองร่วมกันกู้เงินจากโจทก์หลายครั้งเพื่อนำไปให้ผู้อื่นกู้ยืมเพื่อนำผลกำไรมาใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัว วันที่ 17 สิงหาคม 2535จำเลยทั้งสองตกลงจะชำระหนี้ทั้งหมดคืนโจทก์เป็นเงิน19,020,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้และสั่งจ่ายเช็คของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์รวม 55 ฉบับ เมื่อถึงกำหนดตามวันที่สั่งจ่าย โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 55 ฉบับ จำเลยทั้งสองในฐานะสามีภริยาและหุ้นส่วนในกิจการที่ทำร่วมกันและแทนกันต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินต้น 19,020,000 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาจนถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าดอกเบี้ย 1,016,080 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น20,036,080 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองหลายครั้งแต่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีเงินและไม่สามารถหาเงินหรือทรัพย์สินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือแล้วแต่ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย

          จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดทั้งในฐานะตัวการร่วมกันและแทนกันซึ่งขัดกันเนื่องจากบุคคลไม่อาจมี 2 ลักษณะในการกระทำการอย่างเดียวกันได้ นอกจากนี้ฟ้องโจทก์ในตอนต้นบรรยายว่าระหว่างปี 2531-2535 เมื่อโจทก์ได้รับชำระเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้กู้ยืมแต่ละคราวมีกำหนดระยะเวลา 1 เดือนแล้ว จำเลยทั้งสองก็จะกู้ยืมอีกแสดงว่ามีการชำระหนี้เสร็จเป็นรายเดือนแล้ว แต่ในตอนท้ายโจทก์กลับบรรยายว่าในช่วงระหว่างปีดังกล่าวจำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์ไปเป็นจำนวน 19,020,000 บาท จึงขัดแย้งกันทั้งไม่ปรากฏว่าเช็ค 55 ฉบับ แต่ละฉบับถึงกำหนดชำระเมื่อใดสั่งจ่ายจำนวนเท่าใด ธนาคารปฏิเสธด้วยเหตุผลใดทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบไม่อาจต่อสู้คดีได้ ความจริงเป็นเรื่องโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงประกอบกิจการปล่อยเงินให้กู้ร่วมกัน โดยโจทก์เป็นผู้ออกเงินที่ให้กู้ยืม ส่วนจำเลยที่ 1ออกแรงงานรับเงินจากผู้กู้นำไปคืนให้โจทก์ แบ่งผลประโยชน์กันในอัตรา 4 ต่อ 1 สัญญากู้ท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอมจำเลยที่ 2 ไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการทำสัญญา โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ตามสัญญากู้ไม่ได้ จำเลยที่ 2 ไม่เคยกู้เงินหรือร่วมประกอบกิจการใด ๆกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

          จำเลยทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาว่าคำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าร่วมกันหรือแทนกันทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์เป็นคำฟ้องที่ขัดแย้งกันเองเพราะบุคคลคนเดียวกันจะกระทำในสองฐานะมิได้ หากบุคคลคนหนึ่งกระทำการแทนบุคคลคนหนึ่งก็เข้าลักษณะตัวการตัวแทนบุคคลผู้เป็นตัวแทนย่อมไม่ต้องรับผิด คำฟ้องเช่นนี้ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้โจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น เจ้าหนี้เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 9 ก็เป็นการเพียงพอแล้วส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นหนี้โจทก์จริงหรือไม่และจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเมื่อมีประเด็นโต้เถียงกัน และศาลฎีกาพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นแล้วว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการโดยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งต่อมาจำเลยทั้งสองตกลงจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 19,020,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้และออกเช็คเพื่อชำระหนี้ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีทรัพย์สินใด ๆจะชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสอง2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 8(7) และ(9) ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9และครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

          ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2เลื่อนคดีและสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2ประวิงคดีเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรให้จำเลยที่ 2ได้สืบพยานนั้น เห็นว่า คดีนี้ฝ่ายจำเลยมีการขอเลื่อนคดีหลายครั้งและจำเลยที่ 1 เบิกความเสร็จเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนไปสืบพยานที่เหลือในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537วันที่ 19 ธันวาคม 2537 วันที่ 6 และ 20 กุมภาพันธ์ 2538เวลา 9 นาฬิกา รวม 4 วัน ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา วันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 ว่า สืบพยานจำเลยที่ 1 เสร็จเมื่อใดให้จำเลยที่ 2 สืบต่อทนายจำเลยที่ 2 ทราบนัดแล้ว วันที่ 8 พฤศจิกายน 2537ซึ่งเป็นวันนัดที่เลื่อนมา โจทก์ จำเลยที่ 1 ทนายจำเลยที่ 1และทนายจำเลยที่ 2 มาศาล จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีอ้างว่าเตรียมพยานมาโดยผิดหลง ขอเลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 1ต่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537 เวลา 9 นาฬิกา โดยจำเลยที่ 1ขอสืบนายสุวิทย์ ทิพย์รอด อีกปากเดียวศาลชั้นต้นอนุญาตครั้นถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 แถลงหมดพยานศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 2 นำพยานเข้าสืบต่อ แต่จำเลยที่ 2ขอเลื่อนอ้างว่าไม่ได้เตรียมพยานมา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 2 วันที่ 6 และ 20 กุมภาพันธ์ 2538 เวลา9 นาฬิกา ทั้งสองวันตามที่นัดไว้เดิม วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2538จำเลยที่ 2 ขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่าตัวจำเลยที่ 2 ติดอบรมที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลา 3 เดือน และแถลงว่าติดใจสืบตัวจำเลยที่ 2 กับนายสุวิทย์ ทิพย์รอด เพียง 2 ปากนอกนั้นจะขอส่งคำให้การพยานจากศาลแขวงนครราชสีมาแทนสำหรับนายสุวิทย์อาจจะไม่สืบ ต้องรอคำเบิกความจำเลยที่ 2ก่อน และแถลงเพิ่มเติมว่านัดหน้าจะนำตัวจำเลยที่ 2 หรือนายสุวิทย์มาเบิกความ จะไม่ขอเลื่อนคดีอีก ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 2 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538เวลา 9 นาฬิกา ตามที่นัดไว้เดิม ถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 2ไม่ได้นำตัวจำเลยที่ 2 หรือนายสุวิทย์มาเบิกความและขอเลื่อนคดีอ้างว่าตัวจำเลยที่ 2 ติดการอบรมที่กรุงเทพมหานครดังนี้ เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2 หลายครั้งเมื่อครั้งสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 ขอเลื่อนก็แถลงว่าจะนำตัวจำเลยที่ 2หรือนายสุวิทย์มาเบิกความจะไม่ขอเลื่อนคดีอีก แต่เมื่อถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำตัวจำเลยที่ 2 หรือนายสุวิทย์มาเบิกความตามที่แถลงไว้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยที่ 2โดยถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานมาสืบจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

          ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากโจทก์จะมีตัวโจทก์มาเบิกความยืนยันว่าในวันที่ 17 สิงหาคม 2535 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์แล้ว โจทก์ยังมีเช็คจำนวน 55 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งจำเลยที่ 1สั่งจ่ายเท่าจำนวนเงินที่ระบุในสัญญากู้มาแสดง นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางรัชนี จงเจริญ และนางอวยพร ชนะสิทธิ์ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.4 มาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์อีกด้วย พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปตามเอกสารหมาย จ.4 จริง ที่จำเลยที่ 1ต่อสู้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ นำเงินมาเข้าหุ้นกับจำเลยที่ 1เพื่อนำผลประโยชน์แบ่งกัน และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.4 สัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.4เป็นเอกสารปลอมไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟัง

          ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนายณรงค์สามีโจทก์มาเบิกความได้ความว่าในการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 นั้นจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1ได้รู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยที่ 2 เคยไปรับเงินกู้จากโจทก์พร้อมกับจำเลยที่ 1 หลายครั้ง ปลายปี 2535 นายณรงค์ไปพบจำเลยที่ 2 ที่สำนักงานสรรพากรเขต 3 จังหวัดนครราชสีมาได้พูดเรื่องหนี้สินกับจำเลยที่ 2 และขอให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ก็รับปาก แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ไปที่บ้านของโจทก์ จำเลยที่ 2 กลับไม่ยอมลงชื่อ แต่ก็รับใช้หนี้สินทั้งหมดเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันตลอดมาเพิ่งจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2535 เชื่อว่า จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินตลอดมา แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ เอกสารหมาย จ.4 แต่จำเลยที่ 2 ก็รับรู้ในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นตลอดมาถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(3) ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดใช้หนี้ร่วมกันต่อโจทก์

          พิพากษายืน

( สมชัย สายเชื้อ - ทวีชัย เจริญบัณฑิต - พิชัย เตโชพิทยากูล )

                

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-04 13:31:44



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล