ReadyPlanet.com


การปล่อยเงินกู้


นายดำมีอาชีพปล่อยเงินกู้ให้กับบุคคลทั่วไปโดยคิดอัตราร้อยละ2บาทต่อวัน นายแดงเดือดร้อนเรื่่องเงินจึงมากู้เงินจากนายดำเป็นจำนวนเงิน10,000บาท แต่นายแดงไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยให้แก่นายดำ โดยนายแดงอ้างกับนายดำว่าเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้ ดังนี้ข้ออ้างของนายแดงฟังชึ้นหรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ จันทิมา :: วันที่ลงประกาศ 2011-01-24 15:59:10


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3281878)

ต้องพิจารณาเงื่อนไขในสัญญาเป็นสำคัญว่ามีการตกลงดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ถ้าคิดอัตราดอกเบี้ยเกินเช่น ร้อยละ 2 ดอกเบี้ยก็เป็นโมฆะ แต่ถ้าไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันเลยก็ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

ในทางปฏิบัติ ผู้มีอาชีพปล่อยเงินกู้จะไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะเขามีที่ปรึกษากฎหมายให้คำแนะนำอยู่แล้ว

การคิดดอกเบี้ยนั้นคิดได้จนถึงวันที่ถึงกำหนดชำระ แต่ถ้าถึงวันที่กำหนดชำระต้นเงินแล้ว แต่ลูกหนี้ผู้กู้ยืมไม่ชำระต้นเงิน แม้จะได้ตกลงอัตราดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะแล้วก็ตาม แต่เจ้าหนี้ผู้ให้กู้ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-01-24 18:42:03


ความคิดเห็นที่ 2 (3281880)

สัญญากู้เงินไม่มีข้อความระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ เจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ในอัตราเท่าใด ต้องเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญากู้ยืม เมื่อสัญญากู้ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้เจ้าหนี้จะอ้างว่า คู่สัญญาเข้าใจกัน และมีเจตนารมณ์ตรงกันว่า ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี หาได้ไม่ และไม่อาจอ้างว่าเป็นข้อบกพร่องในการทำสัญญา ในเมื่อเจ้าหนี้มีหน้าต้องรักษาผลประโยชน์ของเจ้าหนี้เอง จึงต้องฟังว่า สัญญากู้เงินไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9866/2544
 

          การกู้ยืมเงินเกินกว่า 50 บาท ขึ้นไป กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง เมื่อสัญญากู้ไม่ได้ระบุข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ จึงต้องฟังว่าสัญญากู้ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาเบิกความว่าสัญญากู้เงินมีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารหรือประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสาร คำพยานของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตามมาตรา 94 (ข) แห่ง ป.วิ.พ. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น

           บันทึกข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ตามเอกสารแนบท้ายฎีกานั้น โจทก์มิได้นำสืบแสดงพยานหลักฐานดังกล่าวในชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น และเป็นเอกสารที่อยู่ใน ความครอบครองรู้เห็นของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว การที่โจทก์นำเสนอเอกสารดังกล่าวในชั้นนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
________________________________
          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืม หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาด

           จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

           ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
           โจทก์อุทธรณ์

           ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
           โจทก์ฎีกา

           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การนำพยานบุคคลมาเบิกความเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร และไม่ต้องห้ามตามมาตรา 94 (ข) แห่ง ป.วิ.พ. การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2535 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ จำนวน 1,300,000 บาท โดยยินยอมเสียดอกเบี้ยตามสัญญาโดยมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญา จำเลยได้จำนองกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 329/119 พร้อมส่วนควบและสิ่งตราตรึงต่อโจทก์ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองยินยอมให้โจทก์ยึด ทรัพย์สินอื่นของจำเลยนำออกขายทอดตลาด หากขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองไม่พอชำระหนี้ หลังจากทำสัญญา จำเลยผิดนัดโดยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายในวันที่ 9 สิงหาคม 2539 จำเลยคงค้างชำระต้นเงินจำนวน 947,186.35 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย เห็นว่า โดยปกติผู้ให้กู้ ให้กู้ยืมเงินเพราะหวังประโยชน์ตอบแทนคือ ดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ สัญญากู้ยืมเงินจึงต้องระบุอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ตกลงชำระให้แก่ผู้ให้กู้ และถือว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญากู้ด้วยและตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 653 บังคับว่า การกู้ยืมเงินเกินกว่า 50 บาท ขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง เมื่อเอกสารสัญญากู้เงิน ที่โจทก์นำมาเป็นพยานหลักฐานไม่มีข้อความระบุถึงข้อตกลงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ แม้จะมีข้อตกลงอย่างอื่น ๆ ระบุรวมอยู่ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงให้สิทธิแก่โจทก์ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยอย่างสูง ให้โจทก์มีสิทธิจะเรียกได้จากจำเลยเท่านั้น แต่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราเท่าใด ต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น เมื่อสัญญากู้ไม่ได้ระบุข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โจทก์จะอ้างว่า คู่สัญญาเข้าใจกัน และมีเจตนารมณ์ตรงกันว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี หาได้ไม่ และไม่อาจอ้างว่าเป็นข้อบกพร่องในการทำสัญญา ในเมื่อโจทก์มีหน้าต้องรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ และแสดงให้เห็นชัดแจ้งดังกล่าว จึงต้องฟังว่า สัญญากู้เงินไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ดังนั้น การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาเบิกความว่าสัญญากู้เงิน มีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารหรือประกอบข้ออ้างว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสารในเมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องนำสัญญากู้เงินมาแสดงคำพยานบุคคลของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตามมาตรา 94 (ข) แห่ง ป.วิ.พ. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่ามีบันทึกข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยระหว่างโจทก์กับจำเลย กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ตามเอกสารแนบท้ายฎีกานั้น เห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบแสดงพยานหลักฐานดังกล่าวในชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น และเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองรู้เห็นของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว การที่โจทก์นำเสนอเอกสารดังกล่าวในชั้นนี้ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

           พิพากษายืน
( อัธยา ดิษยบุตร - ปรีดี รุ่งวิสัย - สมศักดิ์ เนตรมัย )
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายพิสิฐ นรัตถรักษา
ศาลอุทธรณ์ - นายเฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์

       

ผู้แสดงความคิดเห็น โดยทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-01-24 19:04:52



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล