ReadyPlanet.com


พบลูกกระสุนปืนในรถยนต์ ที่เรายืมเพื่อน หรือ ของญาติไปใช้ และถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นจะเป็นอย่างไร


ถ้าเรายืมรถยนต์ของเพื่อน หรือ ของญาติ ไปใช้ในเวลากลางคืน และขับรถไปคนเดียวในขณะที่ขับไปมีการตั้งด่านของตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจค้น บังเอิญพบกระสุนปืนอยู่ในรถยนต์ที่เราขับไป เราจะมีความผิด พรบ อาวุธปืนหรือไม่ เราไม่มีใบอนุญาตครอบครองปืน และ ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหามีลูกกระสุนปืนในครอบครองโดยไม่มีใบอนุญาต จะทำอย่างไร?

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้โชคร้าย :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-16 23:43:09


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3255670)

การกระทำความผิดที่จะมีโทษในทางอาญานั้นจะต้องประกอบด้วยเจตนาในการกระทำความผิด แต่ถ้าคุณพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่ากระสุนปืนไม่ใช่ของคุณได้ คุณก็ไม่มีความผิด

ถ้าคุณยืมรถยนต์เพื่อนไปขับ และตำรวจตรวจค้นพบยาบ้าในรถ คุณจะอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นศาลคงไม่เชื่อหรือเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ในทำนองเดียวกันถ้าคุณนำเจ้าของรถยนต์มายืนยันว่ากระสุนปืนดังกล่าวเป็นของเพื่อนคุณก็ไม่มีความผิดครับ

 

 

 

 

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-17 12:55:34


ความคิดเห็นที่ 2 (3255723)

ครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน

ความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่งจำคุก 3 เดือน  ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน รวมเป็น 6 เดือน  จำเลยมีและพาอาวุธปืนพร้อมทั้งเครื่องกระสุนปืนของกลางติดตัวไปในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเมือง นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ผิดปกติวิสัยของสุจริตชน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยจะมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ก็ไม่เพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2048/2551

 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด         โจทก์

          เครื่องกระสุนปืนตามฟ้องคือกระสุนซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามฟ้อง ซึ่งเป็นอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสาม เท่านั้น และศาลล่างทั้งสองก็มิได้ปรับบทความผิดและลงโทษจำเลยตามมาตรา 7, 72 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นเพียงกรณีมีเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่โต้แย้งว่าการมีเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนย่อมไม่เป็นความผิดนั้นจึงไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลคดีไปได้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

          จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาในคดีก่อนของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 9 ปี และปรับ 75 บาท จำเลยยังต้องถูกบังคับตามคำพิพากษาอยู่ แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดและอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษจำเลยต่อไม่ได้

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยมีอาวุธปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .38 เครื่องหมายทะเบียน กท.3916606 พร้อมกระสุนปืนขนาดเดียวกัน 4 นัด ของผู้อื่น ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนพร้อมด้วยเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไปในซอยลาซาล ถนนสุขุมวิท 105 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานครอันเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ทั้งไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เหตุเกิดที่แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 320/2548 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งพิพากษาลงโทษจำเลยจำคุก 9 ปี และปรับ 75 บาท คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 371 และนับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 320/2548 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี

          จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเที่ยมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 320/2548 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี
          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าการมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งใช้กับอาวุธปืนที่มีทะเบียนเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวางบรรทัดฐานได้ว่า เมื่ออาวุธปืนมีทะเบียน เครื่องกระสุนปืนที่มีไว้ในครอบครองก็ไม่จำต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนอีก การมีเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจึงไม่เป็นความผิด เห็นว่า คดีนี้ได้ความว่าเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องคือกระสุนซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามฟ้อง ซึ่งเป็นอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม เท่านั้น และศาลล่างทั้งสองก็มิได้ปรับบทความผิดและลงโทษจำเลยตามมาตรา 7, 72 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเพียงกรณีมีเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่โต้แย้งว่าการมีเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนย่อมไม่เป็นความผิดนั้นจึงไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

          ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 320/2548 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 320/2548 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งพิพากษาลงโทษจำเลยจำคุก 9 ปี และปรับ 75 บาท จำเลยยังต้องถูกบังคับตามคำพิพากษาอยู่ แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดและอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษจำเลยต่อไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวจึงชอบแล้ว อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิพากษาของศาลฎีกา ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องของจำเลยว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อตามสำเนาคำพิพากษาแนบท้ายคำร้องจึงไม่มีโทษจำคุกจำเลยที่จะนำโทษของจำเลยในคดีนี้ไปนับต่อ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าสมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยมีและพาอาวุธปืนพร้อมทั้งเครื่องกระสุนปืนของกลางติดตัวไปในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ผิดปกติวิสัยของสุจริตชน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยจะมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว รวมทั้งอ้างเหตุผลและความจำเป็นในการกระทำความผิด ก็ไม่เพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย อย่างไรก็ตาม จำเลยมีอาวุธปืนของกลางที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืน โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน นำโทษจำคุก 3 เดือน ในความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ให้ยกคำขอให้นับโทษต่อ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
                                            ( พิทยา บุญชู - สิทธิชัย พรหมศร - พิษณุ ดำรงเกียรติวัฒนา )

                          หมายเหตุ 
          การเริ่มนับโทษจำคุก เป็นกระบวนการบังคับโทษทางอาญาซึ่งกฎหมายให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษาจะกล่าวเป็นอย่างอื่น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22) การขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นจึงเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษากล่าวเป็นอย่างอื่นเกี่ยวกับการเริ่มนับโทษจำคุก ซึ่งการขอให้นับโทษต่อมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

           1. คดีก่อนจะต้องมีการตัดสินลงโทษจำคุกแล้ว หากยังไม่พิพากษา หรือมีคำพิพากษาแต่ให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ หรือใช้วิธีการสำหรับเด็กโดยส่งตัวจำเลยซึ่งเป็นเด็กไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก หรือมีคำพิพากษายกฟ้อง หรือถูกคุมขังพอแก่โทษแล้วย่อมไม่มีโทษจำคุกให้นับโทษต่อได้ ศาลที่ตัดสินคดีหลังต้องพิพากษายกคำขอ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6327/2544, 2447/2537, 3332/2531)

           2. คดีก่อนแม้ยังไม่ถึงที่สุด ศาลในคดีหลังก็มีอำนาจนับโทษต่อได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2547, 1046/2547, 2048/2551)

           3. การขอนับโทษต่อต้องมีคำขอมาพร้อมกับฟ้องหรือยื่นคำร้องขอภายหลังมิฉะนั้นศาลจะนับโทษต่อให้ไม่ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461-4462/2544, 1301/2542) ต่างจากการบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับคดีหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 แม้โจทก์ไม่มีคำขอศาลมีอำนาจบวกโทษที่รอไว้ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2545, 6916/2540)

           4. การขอนับโทษหากศาลล่างหลงลืมไม่นับโทษต่อให้ ศาลสูงก็มีอำนาจแก้ไขนับโทษต่อให้ถูกต้องได้ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย (คำพิพากษาฎีกาที่ 6323/2544)

           5. การขอนับโทษต่อ ศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามเสียก่อนว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อหรือไม่ มิฉะนั้นศาลจะนับโทษต่อไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6255/2547, 4255/2541) อย่างไรก็ตามหากปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์หรือจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลก็มีอำนาจนับโทษต่อให้ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7114/2544, 7114/2542)

           6. คดีก่อนและคดีหลังจะต้องไม่มีลักษณะแห่งคดีเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกันจนอาจจะฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกันได้ มิฉะนั้นศาลในคดีหลังจะพิพากษาให้นับโทษต่อเกินกำหนดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2540, 3864/2543, 4620-4621/2543, 929/2548, 2606/2533, 2505/2532) แต่หากคดีก่อนและคดีหลังไม่มีลักษณะคดีที่ไม่เป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกันดังกล่าวข้างต้น แม้คดีก่อนจะลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว คดีหลังก็นับโทษต่อได้ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 91 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2048/2532, 2229/2517)

           7. โทษกักขังก็นับโทษต่อได้ เพราะเป็นเพียงโทษที่ลงแทนโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ให้นับโทษกักขังติดต่อกันได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6822/2540)        

          วิชัย ช้างหัวหน้า 
           

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-10-17 23:45:33



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล